วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความกลัว (ภยะ)

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความกลัว (ภยะ) : เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา" ดังนี้

กิเลสที่สยายปีกอยู่ทุกวงการอีกตัวหนึ่ง ก็คือ "ความกลัว" ทุกวันนี้ความกลัวกลายเป็นโครงสร้างอันยิ่งใหญ่ในวงการทางการแพทย์ ซึ่งไม่ค่อยพยายามที่จะป้องกันบำบัดความป่วยไข้ ตรงกันข้ามกลับพยายามทำลายเวชศาสตร์ท้องถิ่นที่เคยช่วยชาวบ้านในการป้องกันโรค(ดูเชิงอรรถ ๑๒) กลายเป็นว่าเราได้สร้างระบบที่เพิ่มความกลัวและความกังวลให้มากขึ้น ซึ่งเพิ่มโรคภัยไข้เจ็บขึ้นอีกตามสัดส่วน ในทางเดียวกันก็เปิดช่องให้การแพทย์กับทุนนิยมจับมือไปด้วยกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย อุตสาหกรรมทางการแพทย์อันเป็นสถาบันทางสังคมอันทรงพลังนี้ได่ส่งเสริมสนับสนุนและหากินอยู่กับความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวตาย กลัวความป่วยไข้ ความแก่ ความหย่อนยาน กลัวน้ำหนักเกินฯลฯ แน่นอนที่สุดอุตสาหกรรมทางการแพทย์อาจช่วยเราแก้ปัญหาอันนี้ได้โดยเราต้องจ่ายราคาค่างวดเป็นตัวเงิน แต่เราไม่เพียงต้องจ่ายแค่นั้นเท่านั้น เพราะสุขภาพของเรากลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งไปเสียแล้ว สิ่งทั้งหลายที่ไม่เคยเป็นปัญหาจริงๆ อย่างเช่น ความเหี่ยวย่นหย่อนยาน การอ้วนขึ้นเล็กน้อย ศีรษะเริ่มล้าน เต้านมเล็กเกินไป (แม้แต่ทารกยังไม่บ่นเลย) เรื่องเหล่านี้ถูกทำให้เป็นปัญหา โดยความกลัวที่โหมประโคมขึ้นโดยสถาบัน (Institutionalized Fear) หรือสิ่งที่ปัญญาชนอย่าง ไอวาน อิงลิช พูดถึงมันว่าเป็น "กระบวนการทำให้คนในสังคมเชื่อว่าตัวเองเป็นโรค" (ดูเชิงอรรถ ๑๓) อุตสาหกรรมด้านการประกันภัย ก็เลยรับช่วงต่อเล่นบทบาทส่งเสริมตรงจุดนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเข้ามาตอกย้ำความกลัวซ้ำแล้วซ้ำอีก ภายใต้ข้ออ้างว่าช่วยบรรเทาความกลัวให้น้อยลง และเราก็ต้องควักกระเป๋าซื้อกรมธรรม์อีกเช่นเคย ความมั่นคงปลอดภัยก็เลยกลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่ง

ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของความกลัวเชิงโครงสร้างจะพบเห็นบ่อยๆ ในศาสนา ซึ่งไม่ใช่ศาสนาที่แท้หากเป็นแต่เพียงชื่อว่าศาสนาเท่านั้น เพราะแทนที่จะเป็นการสละตนอย่างแท้จริงต่อสิ่งที่สูงกว่าเราและทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า "เป็นหัวใจของศาสนา" แต่กลับพบว่าศาสนาเหล่านั้นเต็มไปด้วยพิธีกรรม ความเชื่ออันเหลวไหลและเป็นไสยศาสตร์ซึ่งบูชาความกลัวเข้าไปอีก แทนที่จะช่วยให้พวกเราเป็นอิสระและเอาชนะความกลัวตาย ความกลัวต่อการสูญเสียของรัก กลัวเจ็บปวด กลัวการจากพราก และอื่นๆ ระบบศาสนาทั้งหลายกลับใช้ความกลัวของเราเป็นเครื่องมือสนับสนุนสถาบันตัวเอง เป็นตัวทำเงินและที่คอยหยิบยื่นความสุขสบายให้แก่นักบวช เจ้าหน้าที่ และพระเณร

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ลัทธิอคติทางเพศ : กิเลสทุกชนิด" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อ ให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วย ลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้
เชิงอรรถ
๑๒ - สำหรับตัวอย่างในประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ ของสมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา (AMA) เงินจำนวนมหาศาลได้หลั่งไหลเข้าสู่ความพยายามเพื่อวิ่งเต้นในการทำลายเวชกรรมทางธรรมชาติ เป้าหมายเพื่อการผูกขาดแก่สมาชิก AMA นั่นเอง ในประเทศสยามบรรษัทผลิตยาข้ามชาติประสบความสำเร็จในการวิ่งเต้นให้รัฐบาลสั่งห้ามการใช้ยาสมุนไพร (โชคยังดี ที่มีหมอที่เห็นคุณค่าของสมุนไพรและคำสั่งนี้ได้ถูกยกเลิกไป)
๑๓ - หมายถึง การทำให้คนคุ้นเคยกับการคิดว่าตัวเองเป็นโรคนั้นโรคนี้ มากกว่าที่จะสนใจว่าสุขภาพอนามัยที่ถูกต้องเป็นอย่างไร Medical Nemesis : the Expropriation of Health (แพทย์เทพเจ้ากาลี น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ แปล) Random House, New York, 1976

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน การแข่งขัน

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ยาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" ดังนี้

อีกหน้าตาหนึ่งที่สำคัญของมายาคติหรือโมหาคติในระบบเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมก็คือ "การแข่งขัน" ซึ่งมีรากเหง้ามาจากกิเลสตัวสำคัญคือ ความถือตัวอวดดี (มานะ) เพราะเมื่อมี "ตัวตน" ก็ต้องมี "ผู้อื่น" แล้วเราก็เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ในแง่ของความ "ดีกว่า" "เลวกว่า" หรือไม่ก็ "เท่าเทียมกัน" ด้วยวิธีการเปรียบเทียบอย่างนี้ เราก็สร้างตัวตนที่อยู่ในฐานะผู้แข่งขันขึ้นมา บางครั้งก็เลยไปถึงเป็นศัตรูต่อกัน ดังนั้น การแข่งขันจึงเป็นที่ยกย่องบูชากันในวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ ในลัทธิแห่งตลาด ในความเชื่อที่เรามีเกี่ยวกับรัฐชาติ และในการแสวงหาความตื่นเต้นของเรา ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เราจึงเห็นการแข่งขันเป็นสิ่งจำเป็นในการมีชีวิตอยู่ เพราะความเชื่อในการแข่งขันทำให้เราสูญเสียความสามารถในการมองดูผู้อื่นเป็นอย่างพี่ชายน้องสาว เป็นมิตรสหายร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือมองในฐานะเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความกลัว (ภยะ) : เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อ ให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วย ลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน มายาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ)

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "มยาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" ดังนี้

ความลุ่มหลงมายาคติ คือ การเห็นสรรพสิ่งผิดไปจากที่มันเป็นอยู่ และไม่สามารถมองเห็นตามที่เป็นจริง นั่นคือ การทำสิ่งชั่วร้ายโดยเห็นแก่ประโยชน์ และการแสวงหาผลประโยชน์ผิดๆ ในทางที่ชั่วร้าย ปัจจุบันนี้ โมหะกลายเป็นสิ่งที่เชิดชูบูชากันในระบบการศึกษา ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเรียกว่า "การศึกษาหมาหางด้วน"(คำแปล หมาหางด้วน) "เรียนแต่หนังสือกับอาชีพไม่ได้เรียนธัมมะธัมโมอะไรสำหรับความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เรียนสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์" เท่าที่ข้าพเจ้าทราบแทบไม่มีที่ไหนเลยที่การศึกษาในกระแสหลักจะสนับสนุนให้มนุษย์ได้พบกับความอุดมแห่งปัญญา ไม่มีที่ไหนเลยที่ช่วยให้เด็กผู้ใหญ่หรือแม้แต่พลเมืองอาวุโสได้เผชิญหน้าและเข้าสู่คำถามที่สำคัญในชีวิต ทว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับคำถามเชิงปรนัยที่มีคำตอบให้เลือก แล้วเราก็เลือกคำตอบที่ไร้สาระที่สุด แทนที่จะหาคำตอบที่จริงแท้ด้วยคำถามอันเต็มไปด้วยสติปัญญา

ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นภายในโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือในมหาวิทยาลัย อาจจะมีการแสวงหาที่จริงจังซื่อสัตย์อยู่บ้างในโรงเรียนเหล่านั้น แต่นั่นก็เป็นเพียงกรณียกเว้นซึ่งอยู่นอกเหนือเกณฑ์คาดหมาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัญญาไม่ได้เป็นเป้าหมายของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ หากระบบการศึกษาของเราโดยทั่วไปมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัย เพื่อทำให้เราเข้าไปสู่ลัทธิดังที่เราวิเคราะห์กันในข้อเขียนนี้ นั่นคือ ทุนนิยม บริโภคนิยม ปัจเจกชนนิยม ลัทธิทางชนชั้น ลัทธิแบ่งแยกสีผิว ลัทธินิยมทหารและอื่นๆ ยาขนานเอกแห่งความกลัวทำให้เราอยู่ในกรอบในแถวได้ชงัดนัก การศึกษาประสบผลสำเร็จในระดับที่สามารถทำให้ผู้คนเต็มไจที่จะรับใช้โครงสร้างสังคมดังที่กล่าวมาแล้วนี้ มีน้อยนักที่จะสืบค้นเข้าไปในความจริงแห่งโครงสร้างเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์และเปิดใจกว้าง เราควรจะเรียกสิ่งนี้ว่า "โครงสร้างแห่งมิจฉาศึกษา" ไม่ดีกว่าหรือ? ช่างน่าสงสารเหลือเกินเมื่อสุนัขไม่มีแม้แต่หางที่จะแกว่ง

โมหะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในวงการสื่อสารภายใต้เสื้อคลุมแห่งข่าวสารข้อมูล ในความเป็นจริงแล้วเราต่างก็ถูกท่วมทับด้วยข้อมูลเสมือนจริงอยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยได้รับรายละเอียดอันเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากข้อมูลที่ผิวเผินฉาบฉวยเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดภาพที่น่าตื้นเต้นเพื่อกระตุ้นยั่วยุ เพื่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ เร่งเร้า และที่สุดก็ทำให้เราไขว้เขวออกจากความเป็นจริง ไม่เคยมีข้อมูลที่เป็นจริงเลยในช่วงสามปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยตกเป็นทาสรับใช้อย่างเต็มใจให้กับการยักยอกผลประโยชน์กันในรัฐบาล กองทัพ และธุรกิจที่จับมือกับพวกอิทธิพลมืด เพื่อทำลายชื่อเสียงของพระนักอนุรักษ์ที่ดีที่สุดของเรา ๒ รูป คือ พระพงษ์ศักดิ์ เตชธัมโม และ พระประจักษ์ คุตตจิตโต ท่านทั้งสองรูปถูกบังคับให้ลาสิกขาเนื่องจากการคอร์รัปชั่นระบาดเข้ามาถึงคณะสงฆ์ เป็นเรื่องจริงเหลือเกินที่หนังสือพิมพ์เมืองไทยกำลังทำลายพุทธศาสนากันอย่างจริงจัง เราได้รับการประเล้าประโลมด้วยภาพอันน่าตื่นตาของการโฆษณาทางการเมือง ซึ่งสนับสนุนให้เกิดมายาคติอันทำให้เห็นไปว่านักการเมืองกลุ่มเดียวเท่านั้นที่อยู่ในอำนาจ สื่อมวลชนไม่เคยเปิดเผยต่อเราเลยว่าใครเป็นคนควบคุมสิ่งที่เรากำลังอ่านกำลังเห็นกันอยู่ หรือใครที่อยู่หลังฉากคอยควบคุมนักการเมืองอีกทีหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการตั้งคำถามหรือได้รับการตีแผ่ออกมา

ดังนั้นในระบบสื่อมวลชนและมิจฉาศึกษาเหล่านี้ เราจึงพบว่าโมหะคติหวนกลับเข้าไปสู่โครงสร้างทางสังคมอย่างไร การรวมมือกันของสองสิ่งนี้เราจะได้เห็นกิเลสสองตัวคือ ความเบื่อหน่ายและความตื้นเต้นทำงานอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะในฝ่ายสื่อสารมวลชนที่เป็นตัวสนับสนุนความตื่นตาตื่นใจ ความไขว้เขวสับสนและความโกหกหลอกลวง

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วยลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความเกลียดชัง (โทสะ) : ลัทธิเหยียดสีผิว ชนชั้นวรรณะ และลัทธิอภิสิทธิ์ชน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" ดังนี้

ทีนี้หันมาดูเรื่องราคะกันบ้าง กิเลสตัวนี้ในเชิงโครงสร้างแล้วเราพากันยกย่องบูชามันไว้ในอุตสาหกรรมด้านการบันเทิง ธุรกิจภาพยนตร์จะขายไม่ดีนัก หากไม่มีการยั่วยุกระตุ้นราคะและกามารมณ์ กิจการด้านโทรทัศน์เติบโตพร้อมๆ กับมีเรื่องทางเพศเข้ามาพัวพันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรื่องราวลามกต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น "ความบันเทิงของผู้ชาย" ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหกรรมด้านโฆษณาก็ใช้ภาพลักษณ์ทางเพศมาเป็นสื่อในการขายสินค้าอันไม่จำเป็นสำหรับพวกเรา เราซื้อยาสีฟันเพียงเพราะว่ามันทำให้เรารู้สึกเป็นที่ดึงดูดใจของเพศตรงข้าม ผู้หญิงต้องซื้อยกทรง น้ำหอม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพียงเพื่อที่จะทำให้มีเสน่ห์ดึงดูดใจทางเพศ รถยนต์ทำให้ผู้ชายรู้สึกภูมิฐานกล้าแกร่งเป็นต้น

ในโลกแห่งอุตสาหกรรม ราคะเป็นอะไรมากไปกว่าองค์ประกอบธรรมดาๆ ที่อยู่ในระบบ อย่างในแง่ของอุตสาหกรรมทางเพศแล้วมันเป็นตัวระบบเสียเอง เราเห็นกันได้ชัดในประเทศสยาม คุณจะพบเห็นได้ไม่ว่าที่ไหนที่มีนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือแม้แต่ฐานทัพทหาร อุตสาหกรรมแห่งราคะนี้ผูกพันกันอย่างแยกไม่ออกกับกองทัพ ระบบทุนนิยม และลัทธิแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ นั่นเพราะว่าจะมีเด็กหญิงหรือเด็กชายที่มีฐานะดีจำนวนน้อยมากที่หันมาขายบริการทางเพศมาเป็นเด็กในคลับในบาร์ มาเดินแบบแฟชั่น หรือเป็นพนักงานรับรองในโรงแรม ใน "อุตสาหกรรม" ทั้งหลายเหล่านี้ ราคะซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของมนุษย์ก็ถูกกระตุ้นเพาะพันธุ์และเผยแพร่ออกไปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร มันคือธุรกิจทางเพศ เรื่องเพศคือเรื่องอำนาจ สงครามคืออาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้ชาย จำเป็นที่จะต้องมีอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้หญิงมาสนองตอบ เพื่อทำให้ไอ้หนุ่มทหารใหม่กระฉับกระเฉงและพร้อมที่จะตายเพื่อประเทศชาติ กำหนัดราคะอันเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติ เมื่อขาดการฝึกฝนทางจิตวิญาณที่สามารถจำกัดช่องทางต่อพลังงานอันมีอำนาจมหาศาลอันนี้แล้ว ก็จะถูกบิดเบือนและผสมปนเปจนกลายเป็นเรื่องเสียหายทำลายล้าง มากกว่าที่จะเป็นความสร้างสรรค์ใดๆ โดยข้อเท็จจริงแล้ว อุตสาหกรรมแห่งกำหนัดราคะทั้งหมดนี้ เป็นตัวทำให้มวลชนมัวเมาพึงพอใจกับสถานะที่ไร้ศักดิ์ศรีและไม่มีอนาคต สลับกับการกระตุ้นเร่งเร้าและการตอบสนองต่อความใคร่ความพอใจทางสัญชาตญาณและอารมณ์ จนผู้คนเหล่านี้ไม่สามารถคิดหรือตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่กำลังเป็นไป

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "มายาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความเกลียดชัง

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความเกลียดชัง (โทสะ)" ดังนี้

อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นด้านลบอีกตัวหนึ่ง ก็คือ ความเกลียดชัง ซึ่งเป็นความรู้สึกฝังลึกด้านในที่ไม่ชอบต่อบางสิ่งบางอย่าง หรือใครคนใดคนหนึ่ง หรือพวกใดพวกหนึ่ง โดยการยึดมั่นในตัวตนของเราและสันนิษฐานเอาว่าดี ซื่อสัตย์ สวยงาม ฯลฯ เราจึงเห็นสิ่งไม่ดีในบุคคลอื่น และสิ่งนี้ก็กลายเป็นความเกลียดชังในที่สุด รูปแบบทางโครงสร้างอันหนึ่งของความเกลียดชังก็คือ ลัทธิการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งกำลังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในหมู่คนรวยทางโลกตะวันตก นำมาสู่คำถามที่ว่าแท้ที่จริงแล้วในประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศที่ "พัฒนาแล้ว" อย่างที่กล่าวอ้างกันหรือไม่ ลัทธิแบ่งแยกสีผิวเปิดเผยตัวมันเองออกมาในอคติที่ระบาดอย่างรวดเร็วในการต่อต้านชาวมุสลิม ในความกลัวถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยประเทศแถบเอเชีย ในการขนถ่ายสารพิษไปปล่อยในแอฟริกาและในความเชื่อที่ว่ารัฐบาลทางตะวันตกมีความรู้ความเข้าใจที่ดีกว่าในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคพื้นโลกที่สาม

ลักษณะโครงสร้างของความเกลียดชังอีกด้านก็คือ การแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ เป็นสิ่งหนึ่งที่ตรึงแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและการปกครองแบบศักดินา ซึ่งไม่เพียงแต่มีลักษณะเทอะทะงุ่มง่ามอย่างเช่น นโยบายแบ่งแยกสีผิว และระบบวรรณะที่เห็นกันบางประเทศเท่านั้น หากมันมีอยู่ในทุกสังคม รวมทั้งในการปกครองตามลำดับชั้นจากบนลงล่างและสังคมอำนาจนิยมกึ่งเผด็จการในเอเชีย ลัทธิวรรณะนิยมได้สร้างความเกลียดชังและอคติในระหว่างกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาในสังคมปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันก็คือ ลัทธิการแบ่งแยกนิกายทางศาสนา โดยการแสดงตัวเข้ากับศาสนาหนึ่งใดหรือคณะหรือนิกายหนึ่งนิกายใดโดยเฉพาะ เราก็เลยไม่ถูกกันและหันมาเกลียดชังกันเองระหว่างกลุ่มหรือศาสนา นี่เป็นเพียงรูปแบบใหม่ของกิเลส อย่างเช่น เมื่อเรามีอคติและตัดสินเอาว่า ชนกลุ่มน้อยชาวพื้นเมืองนั้นไม่มีความเป็นมนุษย์ เพราะคนพวกนี้ป่าเถื่อนไร้อารยธรรมไม่เหมือนอย่างพวกเรา ดังนั้นเราจึงมีสิทธิ์ที่จะทำลายแหล่งน้ำ มีสิทธิ์ที่จะฉุดคร่าลูกชายลูกสาวของพวกเขามาเป็นโสเภณี และที่สุดเราก็ยังยัดเยียดความคิดความเชื่อต่างๆ ให้พวกเขาอีก ลักษณะอย่างนี้ยังมีอยู่ทั่วไปในสังคม ไม่เฉพาะ "พวกมีอำนาจ" หรือ "พวกมีการศึกษาน้อย" เท่านั้น

ประการสุดท้าย การเมืองชนิดผูกขาดก็เป็นอีกหน้าตาหนึ่งของโครงสร้างแห่งความเกลียดชัง ที่ใดก็ตามที่คนกลุ่มเล็กๆ ใช้อุบายกีดกันคนอื่นๆ ออกจากอำนาจ ออกจากสิทธิการตัดสินใจในแนวทางชีวิตที่เขาดำรงอยู่ ที่นั้นความรุนแรงความเกลียดชังก็เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ชัดว่า ไม่มีโครงสร้างใดที่กล่าวมานี้จะเป็นอิสระแยกอยู่ต่างหากจากกัน นี่คือโลกแห่งการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน และโครงสร้างอันหลากหลายของกิเลสและความเห็นแก่ตัวเหล่านี้ต่างก็ส่งเสริมหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน(ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภทนิยม" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ดังนี้

กิเลสตัวที่จะพิจารณาต่อไปก็คือ ความโกรธ ซึ่งมีไวพจน์อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความเกลียดชัง การบันดาลโทสะ ความมุ่งร้าย และความคับแค้น ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวยืนยันให้เห็นถึงความแพร่หลายของกิเลสตัวนี้ เมื่อเราโกรธเราหวังจะต่อต้านทำลาย ทำให้เจ็บปวด หรือไม่ก็เข่นฆ่า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นแค่ยุงตัวน้อยๆ หรือเพื่อนหัวโจกในห้องเรียนชั้นสาม ผู้คนในสังคมที่เราไม่ชอบขี้หน้า หรือศัตรูทางการเมือง เมื่อเรามองเห็นผู้คนเป็น "ผู้อื่น" และตัดสินว่าเราไม่ชอบ "พวกเขา" เนื่องจากแตกต่างไปจากเรา เนื่องจากเขามีบางอย่างที่เราต้องการ หรือว่าเรามีความสุขกับการขู่เข็ญ หรือได้รับความตื้นเต้นเมามันจากการทำอย่างนั้น แล้วเราก็แสดงความโกรธออกมาอย่างเปิดเผย

ในด้านสังคม ความโกรธจะแสดงตัวออกมาทางลัทธินิยมทหาร ในรูปของกองทัพ ความลับทางราชการ อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธสงคราม ดาวเทียมสอดแนม พลังงานนิวเคลียร์ (ไม่เคยเป็นไปเพื่อสันติ) การรวมศูนย์ทางสาธารณูปโภค และเครื่องมือด้านความมั่นคงแห่งชาติในนามของรัฐชาติสมัยใหม่ เราได้สร้างสถาบันและเทคโนโลยีเหล่านี้ในนามของการป้องกันตนเองจาก "ผู้อื่น" แต่ในความเป็นจริงมันถูกใช้ไปเพื่อความก้าวร้าวและมีแรงจูงใจมาจากความโกรธ สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับทุกประเทศและถูกช่วงใช้ไปเพื่อต่อต้านต่อผู้คนพลเมืองที่สถาบันเหล่านี้อ้างว่าจะปกป้องดูแล

"เดี๋ยวนี้เราจึงทำอะไรได้ในเรื่องอิเลคทรอนิกส์ เรื่องอวกาศ เรื่องปรมาณู เรื่องต่างๆ แล้วก็ไม่มีที่สิ้นสุด ยังจะทำได้อีกมาก ซึ่งล้วนแต่ส่งเสริมให้เป็นประโยชน์แก่กิเลส ของบุคคลที่คิดแต่จะครองโลกด้วยกันทั้งนั้น"

ประชาชนรู้ว่าโครงสร้างแห่งลัทธิทหารนั้น โดยประวัติศาสตร์แล้วเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิดกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในโลกสมัยใหม่แห่งทุนนิยมและด้วยโครงสร้างทางการเมืองสมัยใหม่ ล่าสุดไม่ว่าจะขวาหรือซ้าย ลัทธินิยมทหารทั้งในนามแห่งชาติแห่งภาคพื้นทวีปหรือแห่งโลก เช่น องค์การนาโต้ หรือการร่วมมือทางทหารอย่างเงียบๆ ของอาเซียน ทั้งหมดนี้เป็นการประกาศตัวอย่างชัดแจ้งของความโกรธเชิงโครงสร้าง

ความโกรธเชิงโครงสร้างยังมาโผล่อยู่ในสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ระบบยุติธรรม" ซึ่งหลายประเทศนำมาใช้ในการตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปราศจากอำนาจ ในหลายกรณีที่ผู้ถูกลงโทษเหล่านั้นเป็นคนยากจน เป็นชนกลุ่มน้อย และเป็นผู้หญิง ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ถ้าผู้ชายฆ่าภรรยาของเขาตาย อย่างมากภายในเวลาห้าปีเขาก็จะถูกปล่อยตัวออกมา แต่ถ้าผู้หญิงฆ่าสามีของเธอ เธอจะต้องถูกจำคุกถึงยี่สิบปี แม้ว่าตลอดมาเธอจะทรมานจากการถูกทุบตีจากสามีเป็นเวลาแรมปีก็ตาม มากไปกว่านั้น ระเบียบการปฏิบัติอันหยาบคายของศาลและตำรวจต่อคนผิวดำก็ไม่สมควรอย่างสิ้นเชิงกับอาชญากรรมที่เขาก่อขึ้น สิ่งนี้น่าจะเรียกเสียใหม่ว่า "ความอยุติธรรม"

ในสหรัฐอเมริกา ระบบอยุติธรรมนี้ได้พุ่งเป้าไปที่การลงโทษผู้กระทำผิดทางกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าคุกจะเป็นการลงทุนที่แพงที่สุดและมีประสิทธิภาพน้อยที่สุดในการยับยั้งอาชญากรรม และที่ยิ่งแย่เข้าไปอีกคุกในอเมริกาและอังกฤษหลายแห่ง กำลังเปิดให้เช่าแรงงานจากนักโทษ และเก็บค่าเช่าเข้ากระเป๋าตัวเอง ดูเหมือนว่าระบบค้าทาสได้หวนกลับมาสู่ "ดินแดนแห่งเสรี" อีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าคนบางฝ่ายในประเทศนี้กำลังฟ้องร้องชาวจีนว่าใช้แรงงานนักโทษอยู่ก็ตาม

ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าอยู่บ้างในศตวรรษที่ผ่านมานี้ อย่างน้อยก็บางประเทศที่มีกระบวนการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและเรื่องชนกลุ่มน้อย แต่ความอยุติธรรมก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะฝังลึกลงไปอย่างซับซ้อนยิ่งขึ้นในสิ่งที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย หรือเป็นสินค้าส่งออกในนามประเทศกำลังพัฒนา แต่ตราบใดที่ "ความยุติธรรม" ยังวางอยู่บนพื้นฐานแห่งการลงโทษทัณฑ์ มันก็คือ การแก้แค้นพยาบาท และโครงสร้างของความโกรธก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความเกลียดชัง (โทสะ) : ลัทธิเหยียดผิวสี ชนชั้นวรรณะ และลัทธิอภิสิทธิ์ชน" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภคนิยม

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภคนิยม" ดังนี้

เริ่มด้วยโลภะ เมื่อกิเลสตัวนี้ฝังแน่นเข้าไปในโครงสร้างทางสังคม ผลสุดท้ายที่จะได้รับก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า ทุนนิยม นักทฤษฎีทุนนิยมที่มีชื่อเสียงอ้างว่าความอยากได้หรือโลภะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ทุนนิยมจึงเป็นแค่ชื่อหนึ่งของความโลภที่ก่อตัวเป็นโครงสร้างหรือสถาบันหลักทางสังคม เมื่อเราเป็นเด็กเราถูกสอนให้ใช้ชีวิตตามแนวคิดแบบทุนนิยม เราถูกสอนให้อยากได้และแข่งขัน นั่นคือสอนให้เห็นแก่ตัว ผลที่ติดตามมาคือ ความโลภที่เกิดขึ้นอย่างธรรมดาๆ ในแต่ละบุคคลก็ผสมปนเปเข้ากับความโลภทางโครงสร้างที่แวดล้อมพวกเราอยู่ จึงทำให้ปัญหาทั้งในระดับส่วนตัวและระดับสังคมยากต่อการรับมือหรือแก้ไขมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นทั่วโลก โลกที่ลัทธิทุนนิยมกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำเพียงหนึ่งเดียว แม้แต่ที่รู้จักกันดีอย่าง กลุ่มประเทศสังคมนิยม ก็กำลังปรับยุทธวิธีของทุนนิยมมาใช้

ลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่ เฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และ ยุคสมัยแห่งการพัฒนา ได้รับเอาความโลภเชิงระบบมาดำเนินการสืบต่อไป ดังนั้น ผลพวงที่คลอดตามกันออกมาก็คือ ลัทธิบริโภคนิยม มาถึงตรงนี้ จึงทำให้บทบาทของทรัพย์สินส่วนบุคคลกลายเป็นเรื่องที่เด่นชัดขึ้นเต็มที่ ขณะเดียวกัน คนชั้นสูงหยิบมือหนึ่งก็ยังคงเกาะกุมอำนาจแห่งต้นทุนของสังคมและวิธีการผลิตเอาไว้ ผู้คนส่วนใหญ่ถูกหลอกลวงด้วยมายาคติแห่งโครงสร้างทางสังคมที่ประกอบด้วยความโลภ ให้ลุ่มหลงกับการสั่งสมส่วนเกินแห่งสินค้า ให้ไล่ตามความสุขสบายทางเนื้อหนังและความมั่นคงปลอดภัย นั่นเพราะว่าพวกเขามีสิทธิ์อำนาจในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของทรัพย์สมบัติมากจนเกินไป จนไม่เห็นว่าคนอื่นๆ ต่างหากที่เป็นเจ้าของสังคม และในหลายกรณีที่ยังมีคนอื่นมาเป็นเจ้าของพวกเขาอีกทีหนึ่ง

มิหนำซ้ำ การท่องเที่ยวยังขายวัฒนธรรม ขายศิลปะ อาหาร ชายหาด สิ่งแวดล้อม และประชากรโลกขายออกไปเหมือนกับสินค้าที่มีไว้เสพไว้บริโภค แทนที่จะรักษาไว้เป็นทรัพยากรของคนทั้งหมดเพื่อประโยชน์แห่งความอยู่ดีกินดี เพื่อประโยชน์แห่งความเข้าใจต่อกัน ความสามัคคี ความสุข ความสงบสันติ ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกซื้อขาย แบ่งแยก และถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้กลไกตลาด พลเมืองท้องถิ่นถูกตัดสินว่าไร้ศักยภาพที่จะจัดการกับทรัพยากรอันสำคัญดังกล่าว พวกเขามีสิทธิ์ก็แค่ได้เข้าทำงานเป็นเด็กซักรีด เด็กเดินโต๊ะ คนขับเท็กซี่ หรือไม่ก็เป็นตัวแสดง ปาหี่วัฒนธรรมตามรสนิยมของผู้บริโภคที่อยู่ในคราบนักท่องเที่ยว

ในระบบดังกล่าว ลำพังปัจเจกชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะมองหาแต่เพียงวิธีการขจัดความโลภในระดับส่วนตัว คงไม่พอเสียแล้วกระมัง หากเขาต้องทำงานร่วมกันเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแห่งความโลภ ไปสู่ระบบที่ปราศจากความโลภ อาจเป็นไปได้ที่ปัจเจกชนบุคคลจำเพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะสามารถกำจัดความโลภภายในตัวเองออกไปเสียได้ แต่พวกเขาก็ต้องพึ่งพิงและมีส่วนร่วมอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความโลภเชิงโครงสร้าง ส่วนพวกเราที่เหลือผู้ที่ไม่ได้เก่งกล้าสามารถด้านจิตวิญญาณ อาจจะถูกเอาเปรียบรังแก ถูกต้มตุ๋น หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือด้วยความโลภที่ห้อมล้อมอยู่ทุกทิศทาง เราอาจจะต้องพบกับความลำบากอย่างสาหัสในการไล่มันออกไป แต่แน่นอนที่สุด เราต้องทำ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะนิ่งดูดายไม่ปกป้องคุ้มครองตัวเรา เพื่อนของเรา และยุวชนรุ่นหลังของเรา

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม" โปรดติดตามครับ

แนะนำความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

หนังสือเกี่ยวกับธรรมะหลายเล่มที่ท่านสามารถค้นหาได้ที่นี่

วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ดังนี้

ข้าพเจ้าเชื่อว่าคำสอนทางพุทธศาสนาที่ละเอียดลึกซึ้งในเรื่องกิเลส อัตตา อุปาทาน และสาเหตุอื่นๆ แห่งความทุกข์นั้นเป็นเครื่องมือซึ่งมนุษย์ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะออกไปจากความยุ่งยากนี้ ขอพวกเรามาประยุกต์คำสอนเหล่านี้กลับไปสู่รากเหง้าของปัญหาสังคม กลับไปสู่รูปแบบอันหลากหลายแห่งทุกข์ทางสังคมที่ปรากฎอยู่ ในข้อเขียนนี้ข้าพเจ้าจะพยายามทำด้วยเช่นกันโดยมีพื้นฐานอยู่ในทัศนะที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยทำไว้

โลกทัศน์ง่ายๆ ที่ใช้ตรวจสอบสาเหตุและรากเหง้าแห่งทุกข์ของสังคมก็คือ "ความเห็นแก่ตัว" เมื่อเราวิเคราะห์ความทุกข์ในส่วนบุคคลโดยใช้หลักปฏิจจสมุปบาท (การอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น) เราจะเห็นว่าทั้งหมดนั้นมันเกี่ยวเนื่องอยู่กับวิธีคิดที่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือความเห็นแก่ตัวของเรานั่นเอง ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราตรวจสอบปัญหาสังคม เราก็พบว่ามันมีรากเหง้าอยู่ในความเห็นแก่ตัวของสังคมหรือสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ในที่นี้ความเห็นแก่ตัวหมายถึง การเป็นห่วงกังวลอยู่แต่เรื่องของตัวเอง ครอบครัวของตัวเอง หรือกลุ่มของตัว (บริษัท ชนชั้น ศาสนา ผิว เชื้อชาติ หรือสโมสรกีฬา) คนเช่นว่านี้จะไม่ใส่ใจต่อความจำเป็นและความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือแม้แต่ไปไกลถึงขนาดเจตนาทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดเมื่อถึงคราวไม่สามารถควบคุมความเห็นแก่ตัวได้ การวิเคราะห์ทางพุทธศาสนาเห็นว่า ความเห็นแก่ตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากตัณหา (ความอยาก) และอุปาทาน ความยึดมั่นว่ามี "ตัวฉัน" หรือ "อัตตา" เป็นผู้อยาก สื่งนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว และภาวะทางจิตที่เต็มไปด้วยตัวตนที่เห็นแก่ตัว ความเกี่ยวเนื่องกันอย่างเป็นเหตุปัจจัยนี้ เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นในระดับส่วนรวมในลักษณะของตัณหาความอยากซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในสังคมของเรา รูปแบบที่แน่นอนของความยึดมั่นถือมั่นจึงเกิดขึ้นในโครงสร้างทางสังคม เรามีเอกลักษณ์ร่วมกันระดับหนึ่งต่อผิวสี ภาษา ศาสนา ประวัติศาสตร์ ลัทธิ และอื่นๆ เราได้กำหนดตัวตนขึ้นมาแล้วเราเห็นแก่ตัวในระดับตัวตนร่วมนั้น ซึ่งบางครั้งเราเรียกขานกันในนาม "ผลประโยขน์แห่งชาติ" ผลประโยชน์แห่งชนชั้น หรือผลประโยชน์อะไรก็ตามแล้วแต่จะอ้าง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิด "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะตรวจสอบค้นหาร่วมกันที่นี่

คำที่มีความหมายเดียวกันกับ "ความเห็นแก่ตัว" ในภาษาบาลีก็คือคำว่า "กิเลส" (ความสกปรกโสโครกที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองและสูญเสียความบริสุทธิ์) ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถหยิบยกเอากิเลสแม่บทที่เราต้องสืบสวนและถอนรากเหง้าในการปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนา มาใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างทางสังคมได้เช่นกัน สิ่งนี้ทำให้เราสะดวกมากขึ้นและยังเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์อันทรงพลัง อีกทั้งยังมีพื้นฐานด้านจิตวิญญาณและศีลธรรม

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภทนิยม" โปรดติดตามครับ

วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "พุทธยาน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์" ดังนี้

ข้าพเจ้าอยากวิเคราะห์อริยสัจจ์สี่แต่ละข้อสืบไป ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อวิสัยทัศน์แห่งธัมมิกสังคมนิยม ทว่าจะไม่ลงลึกในรายละเอียดของการวิเคราะห์สาเหตุด้านในของความทุกข์ แม้ว่าสิ่งนี้จะมีการกล่าวถึงอยู่เนืองๆ เพราะจุดมุ่งหมายของเราในที่นี้ คือ ๑) ทุกข์ของสังคม ๒) สาเหตุแห่งทุกข์ของสังคมหรือของส่วนรวม ๓) คือสิ่งที่รู้จักกันในนามธัมมิกสังคมนิยม ซึ่งเป็นที่ที่ความทุกข์ถูกกำจัดหรืออย่างน้อยก็ทำให้เหลือน้อยลง และ ๔) หนทางที่เราสามารถเดินไปด้วยกันเพื่อประจักษ์แจ้งต่อธัมมิกสังคมนิยม หรือสิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า "ธัมมิกสังคมนิยม" อย่างไรก็ตาม เครื่องมือพื้นฐานในการวิเคราะห์ก็ยังคงเป็นอันเดิมไม่ว่าในแง่มุมแห่งทุกข์จะถูกกล่าวถึงในแง่ไหน

เพื่อที่จะสำรวจเข้าไปในอริยสัจจ์ข้อแรกของสังคม ข้าพเจ้าอยากจะทบทวนรูปแบบบางด้านของความทุกข์ทางสังคมอย่างสั้นๆ โดยการสันนิษฐานว่าทุกคนที่นี่ต่างก็คุ้นเคยกับปัญหาเหล่านี้ แม้จะไม่ลึกลงไปในรายละเอียดมากนัก แต่อย่างน้อยเราก็ยังคงต้องสัมผัสถึงบางส่วนของความทุกข์ ก่อนที่จะเข้าไปสู่สาเหตุของมันเพราะการทำอย่างนี้ จะทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าการประกาศตัวแห่งความทุกข์ในหลายๆ ลักษณะนั้น มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างไร (อิทัปปัจจยตา)

ตลอดข้อเขียนชิ้นนี้ เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เราเรียกว่า "ปัญหาทางสังคม" นั้นไม่สามารถแยกออกจากสิ่งที่เรียกว่า "ทุกข์ส่วนบุคคล" อันเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความทุกข์ที่แสดงตัวอยู่ในตัวเราในฐานะปัจเจกชนซึ่งส่งเสริมและร่วมกันก่อปัญหาต่อสังคมส่วนรวมที่เราสังกัดอยู่ และในทางกลับกัน ก็จะเห็นว่าโครงสร้างทางสังคมที่แสดงตัวอยู่ในปัญหาของส่วนรวมนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเราในหลายๆ ทางอย่างไร ดังนั้นมันจึงส่งเสริมให้เกิดความทุกข์ภายในส่วนตัวบุคคล อย่างที่กำลังกัดกร่อนพวกเราอยู่ แม้ว่าเป้าหมายของข้อเขียนนี้จะพูดถึงความทุกข์พื้นฐานทางสังคม แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่หรือมีความสำคัญมากไปกว่า "ความทุกข์ของปัจเจกบุคคล"

ปัญหาที่โดดเด่นและกำลังระบาดอยู่ทั่วทั้งโลก คือ ลัทธิบริโภคนิยม อันเป็นชุดหนึ่งของปัญหาที่สามารถจัดกลุ่มอยู่ภายใต้หัวข้อปัญหาศีลธรรม วัฒนธรรมและคุณค่า เมื่อผู้คนไม่สามารถยืนอยู่บนปัญญาวัฒนธรรมและประสบการณ์ของตัวเขาเองได้อีกต่อไป แต่มัวไปแสวงหาความสุขและความพอใจในสิ่งที่เป็นวัตถุทีผลิตและโฆษณาโดยวัฒนธรรมแห่งการบริโภค สิ่งนี้จึงสร้างปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย เช่น การล่มสลายของชุมชน เป็นต้น เมื่อแต่ละครอบครัวต่างพุ่งเป้าเฉพาะไปที่ความสุขสบายส่วนตัวและความอยากได้ในสินค้ามากเท่าไร พวกเขาก็จะมีความปรารถนาในการให้เวลาและความพยายามที่จะดำรงไว้ซึ่งความรับผิดชอบและความผูกพันธ์ฉันท์มิตร ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงสนับสนุนความเป็นชุมชนน้อยลงเท่านั้น ดังนั้น เราจึงพบว่าการล่มสลายของชุมชนจะมาพร้อมๆ กับการแพร่ขยายของลัทธิบริโภคนิยมและลัทธิอุตสาหกรรม ความเสื่อมโทรมไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ หากยังดำเนินต่อไป จากระหว่างครอบครัวต่อครอบครัว ก็รุกรานเข้าไปสู่บุคคลที่อยู่ภายในครอบครัวเดียวกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ระดับของความเป็นปัจเจกเพิ่มสูงเกินไปจนหมกมุ่นครอบงำ ผู้คนดังกล่าวก็ไม่สามารถหล่อเลี้ยงความผูกพันภายในครอบครัวไว้ได้ หรือทำได้ก็แต่เพียงผิวเผินเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นในสังคมสมัยใหม่ปัจเจกชนทั้งหลายซึ่งตกหลุมพรางแห่งความเป็นปัจเจกสุดขั้ว (Hyper-individuality) กำลังทรมานกับความแปลกแยกที่เพิ่มมากขึ้นทุกที ซึ่งไม่เฉพาะกับครอบครัวหรือชุมชนเท่านั้น แต่แปลกแยกแม้กระทั่งร่างกายและความรู้สึกของตัวเอง

การบริโภคอย่างโอหังบังอาจที่คิดว่า เราสามารถเป็นเจ้าของหรือควบคุมธรรมชาติได้นั้น ทำให้พวกเราแปลกแยกจากโลกแห่งธรรมชาติ อันเป็นผืนโลกที่เราถือกำเนิดและเป็นโลกที่เราไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ ความแปลกแยกทางจิตใจ ทางอารมณ์และทางจิตวิญญาณนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างมหาศาล เช่น ปัญหามลพิษ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาการสาบสูญไปของสัตว์ป่าและผืนป่าที่ยังไม่ได้บุกเบิก ปัญหาประชากรล้นโลก ปัญหาความน่าเกลียดสกปรกของเมืองและชานเมือง ปัญหาการสูญเสียเผ่าพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังและเกี่ยวโยงกับปัญหาเหล่านี้ก็คือ โลกทัศน์ที่มองสรรพสิ่งเป็นแต่เพียงผลประโยชน์ชั่วแล่นหรือมองเห็นเฉพาะคุณค่าทางด้านวัตถุเท่านั้น และบ่อยครั้งที่จะเห็นเป็นแค่เม็ดเงิน อย่างเช่น เมื่อป่าไม้ถูกมองเห็นเป็นเพียงแผ่นกระดาษเป็นธนบัตร มนุษย์กลายเป็น "ผู้บริโภค" ซึ่งหมายถึง ต้องสอดคล้องกับอำนาจซื้อที่มีอยู่ อันเป็นรายได้มหาศาลที่ถูกขูดรีดเอาไป ด้วยกระบวนการลดทอนคุณค่าของมนุษย์เช่นนี้ เราจึงถูกทำให้แปลกแยกทางจิตวิญญาณซ้ำเข้าไปอีก ซึ่งเป็นปัญหาอันมหึมาที่แสดงตัวในรูปความล่มสลายของศาสนาและศีลธรรมในปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่พุทธศาสนา

ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ความไร้สมรรถภาพของการศึกษาในการบ่มเพาะศีลธรรมและคุณค่าทางศาสนธรรมให้แก่มนุษย์ ซึ่งปรากฏในรูปขยะความรุนแรงอันไร้ความยั้งคิดซึ่งขาดคุณค่าด้านมนุษยธรรมท่วมท้นอยู่เต็มไปหมดตามจอโทรทัศน์และสนามบิน การปราศจากความโปร่งใส ขาดความซื่อสัตย์ ขาดการตรวจสอบ และการไร้ความเป็นผู้นำทางการเมือง ผู้คนจำนวนหนึ่งที่ทำเงินก้อนมหาศาลจากตลาดการเงิน หากไม่ผลิตอะไรเลยพอที่จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แต่กลับดูดซับเอาทรัพยากรเป็นจำนวนมหาศาลโดยผ่านการเก็งกำไรจากการซื้อขายหุ้น การซื้อขายเงินตราล่วงหน้า พันธบัตร ราคาสินค้า และอีกหลายรูปแบบที่รู้จักกันในนามการลงทุน การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ของคนพื้นเมืองในหลายๆ พื้นที่ ความรุนแรงและความอยุติธรรมทางเพศ และอีกมากมายเหลือคณานับ

โปรดติดตามตอนต่อไป "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว"

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน พุทธยาน

จากตอนที่แล้วได้กล่าวถึง "เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่" ตอนต่อไปนี้จะกล่าวถึง "พุทธยาน"

พุทธยาน

ในทำนองเดียวกันเราก็ต้องหลีกเลี่ยงความอวดดีของ "มหายาน" และความคับแคบของ "หินยาน" ด้วย วิธีคิดอันคับแคบของหินยานที่สนใจเฉพาะเรื่องการหลุดพ้นเฉพาะตนเฉพาะปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องที่ไม่ใช่พระพุทธประสงค์อย่างแน่ชัด ถ้าใครศึกษาคัมภีร์บาลีในเถรวาท จะเห็นได้ชัดว่าพระพุทธองค์นั้นสนใจผูกพันกับความทุกข์ของสรรพสัตว์ รวมทั้งความทุกข์ของพระองค์เองและความทุกข์ของทุกคนที่แวดล้อมพระองค์ตั้งแต่วันที่พระองค์เสด็จออกผนวช อีกด้านหนึ่ง เราต้องหลีกเลี่ยงความอวดโอ่ในจุดยืนของฝ่ายที่เรารู้จักกันดีคือ "มหายาน" ที่คิดว่า "ฉันกำลังแก้ไขความทุกข์ให้ผู้อื่น" แทนที่จะทำอย่างนั้นข้าพเจ้าขอเสนอว่า เราควรทำตามมรรควิธีของพุทธยาน

พุทธยานไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่าง "ทุกข์ของฉัน" หรือ "ทุกข์ของท่าน" หรือ "ทุกข์ของพวกเขา" ทว่าพุทธยานค้นหาหนทางในการขจัดและดับทุกข์ที่ไหนก็ตามที่มันเกิดขึ้น พุทธยานไม่ได้อ้างว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาของผู้อื่น แต่พุทธยานนั้นปรารถนาที่จะรับใช้ เกื้อหนุน ส่งเสริมและช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อที่พวกเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาของพวกเขาเอง พุทธยานทำหน้าที่ในระดับที่เป็นเพื่อนร่วมงานและเป็นกัลยามิตร

ประการที่สอง พุทธยานดระหนักว่าเพื่อที่จะไปสู่ความสิ้นสุดทุกข์และแก้ปัญหาเหล่านี้ เราต้องจัดการกับสาเหตุรากเหง้าของมัน เราต้องสืบสวนอย่างลึกซึ้งรอบคอบ กระทั้งเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า อะไรคือสาเหตุรากเหง้าสำคัญแห่งทุกข์ทั้งภายในและภายนอก ทั้งปัญหาในระดับบุคคลส่วนตัวเราเองและปัญหาระดับสังคมส่วนรวม เราไม่สามารถหยุดอยู่แค่การวิเคราะห์ที่ผิวเผินซึ่งครอบงำพวกเราอยู่ ทั้งฝ่ายนักเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายปฏิบัติการจริงด้านศาสนา

ประการที่สาม พุทธยานวางอยู่บนความเคารพต่อพื้นฐานแห่งกฎอิทัปปัจจยตา (ความเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน) และสุญญตา (ความว่างจากตัวตน) อิทัปปัจจยตาคือความจริงที่ว่าธรรมะและปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงต่างก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของปรากฏการณ์อื่น และต่างก็เชื่อมต่อและสัมพันธ์กัน โดยผ่านเครือข่ายโยงใยอันกว้างใหญ่แห่งการดำรงค์อยู่ร่วมกันหรือการเป็นเงื่อนไขต่อกัน เมื่อมีเครือข่ายอันกว้างใหญ่แห่งการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกันนี้ เราจะพบว่าไม่มีธาตุแท้หรือตัวตนใดดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระลำพังตัวมันเองหรือของมันเอง นี่คือความเป็นจริงของความว่าง ในจักรวาลแห่งการพึ่งพิงและการตกเป็นเงื่อนไขของกันและกันนี้ จะไม่มีธาตุแท้หรือตัวตนใดๆ ที่เป็นอยู่อย่างเอกเทศ นี่รากฐานของพุทธยาน จากพื้นฐานทัศนคติอันนี้ ความคิดเชิงทวินิยมทั้งหลายที่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง "ทุกข์ของฉัน" หรือ "ทุกข์ของเขา" หรือระหว่างการช่วยเหลือตัวเองกับการช่วยเหลือผู้อื่นก็จะหมดไป

ดังนั้น ตลอดข้อเขียนชิ้นนี้ นอกจากจะมีเค้าโครงอริยสัจจ์สี่เป็นพื้นฐานแล้ว ก็จะมีหลักอิทัปปัจจยตาและสุญญตาควบคู่กันไปด้วย เพื่อมิให้พลาดท่าสูญเสียความหมายแห่งพุทธศาสนาที่แท้จริงไป

โปรดติดตามอริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยมต่อไปในตอน "การประการตัวทางสังคมของความทุกข์"

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจ
จูฬสุญญตสูตร

หนังสือที่น่าสนใจ
มีหลายเล่มให้เลือกดูในเว็บนี้

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่

เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่

เค้าโครงพื้นฐานของข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ในรูปของอริยสัจจ์สี่ เนื่องจากท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้ใช้อริยสัจจ์สี่เป็นเค้าโครงพื้นฐานในการแสดงความคิดของท่านอยู่เสมอ ดังนั้นข้าพเจ้าจะพยายามทำในสิ่งเดียวกัน การทำอย่างนี้เราจะได้รับประโยชน์หลายทางทีเดียว ประการแรก จะทำให้เราอยู่ในร่องในรอยและมุ่งตรงไปยังเป้าหมายของพระพุทธศาสนานั่นคือ การดับทุกข์ การตั้งเป้าไปยังหน้าที่พื้นฐานของพุทธศาสนา จะป้องกันเราจากการพลัดหลงไปสู่จุดประสงค์อื่นที่เป็นเรื่องรองออกไป ซึ่งมักเกิดขึ้นอยู่เสมอรวมทั้งในหมู่พวกเราเอง ซึ่งเป็นชาวพุทธที่ทำงานเพื่อสังคม (Engaged Buddhists) ประการที่สอง อริยสัจจ์สี่เป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นอย่างประณีตแยบคาย เพราะฉะนั้น การใช้วิธีนี้จึงทำให้เรามีพื้นฐานอยู่ในความคิด ประสบการณ์ และคำสอนของพระพุทธองค์โดยตรง มากไปกว่านั้น อริยสัจจ์สี่เป็นเค้าโครงที่สมบูรณ์ เข้าใจได้ง่าย และยังครอบคลุมแง่มุมที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ปัญหาหรือความจริงใดที่เราเผชิญหน้าอยู่ อย่างเช่น การค้นพบแห่ง ธัมมิกสังคม ที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่นี้ก็เช่นเดียวกัน อีกทั้งเป็นเค้าโครงที่ตั้งอยู่บนเหตุผล ซึ่งพวกเราสามารถคิดค้น สืบสวน และวิเคราะห์เข้าไปในรายละเอียดอันลึกซึ่งเท่าที่เราต้องการ และอริยสัจจ์สี่นั้นเป็นไปตามกฏเกณฑ์ ทนต่อการพิสูจน์ และยังมีรากเหง้าเดิมอยู่ในประสบการณ์ของมนุษย์ ประการสุดท้าย สรรพชีวิตทั้งหมดทั้งสิ้นต่างก็มีความทุกข์เสมอหน้ากันทั่วทั้งสากลจักรวาล

ถึงแม้พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำสอนอันนี้ ทว่าต่อพวกเราบางคนอาจจำเป็นที่จะต้องประเมินกันอีกครั้งหนึ่งว่า เราเข้าใจอริยสัจจ์สี่ในฐานที่เป็นวิธีการของพุทธศาสนาในการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ ในการทำอย่างนี้ท่านได้เขียนเสียใหม่และสรุปไว้เป็นสำนวนสั้นๆ ในรูปของคำถามเหล่านี้

ตัวปัญหาคืออะไร.....คืออะไร?

สาเหตุของมันคืออะไร.....จากอะไร?

เป้าหมายหรือความดับของมันคืออะไร.....เพื่ออะไร?

เราจะมีวิธีการไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างไร.....โดยวิธีใด?

อริยสัจจ์ข้อแรก ชี้ให้เราเห็นถึงปัญหา ว่ามีปัญหาซึ่งเรียกร้องให้เราอยู่ในฐานะเป็นหน้าที่ของมนุษย์และฐานะเป็นชาวพุทธที่ทำงานเพื่อสังคม ประการที่สอง ปัญหาแต่ละปัญหาเกิดขึ้นอย่างมีเหตุและเป็นปัจจัย หากเราต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป สิ่งนี้ก็ต้องมีการสำรวจสืบค้นและทำความเข้าใจกันต่อไป ประการที่สาม ที่สุดแล้วปัญหาเหล่านี้มีจุดจบ หมายถึง มีภาวะหรือความเป็นจริงซึ่งสามารถเข้าถึงในการทำให้ปัญหานั้นไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป บางครั้งท่านอาจารย์พุทธทาสพูดถึงสิ่งนี้ว่าเป็นเป้าหมายของปัญหา ตัวอย่างเช่น เป้าหมายของความทุกข์จะชี้ให้เราเห็นว่า ภาวะและความเป็นจริงแห่งความสิ้นทุกข์นั้นมีอยู่ นั่นคือ พระนิพพาน และประการที่สี่ คือ วิถีทางที่จะแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไป ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เราต้องปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในการถอดถอนปลดเปลื้อวสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งต่อจุดสิ้นสุดของปัญหา

แม้พวกเราซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเค้าโครงนี้ แต่ด้วยความเคยชินจึงเกิดการบิดเบือนขึ้น อย่างบางคนไปเจาะจงเป็นเฉพาะบุคคลมากเกินไป ขณะที่บางคนเห็นเป็นนามธรรมหรือครอบจักรวาลมากไป ในการตอบคำถามนี้ ข้าพเจ้ามีข้อเสนอแนะเล็กน้อยเพื่อช่วยให้พวกเราสามารถใช้เค้าโครงของอริยสัจจ์สี่อย่างถูกต้อง อย่างในพระสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าเป็น ความทุกข์ของฉัน หรือ ความทุกข์ของเขา แต่ตรัสว่า ความทุกข์นั้นมีอยู่ เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักในข้อเท็จจริงนี้และไม่เจาะจงเป็นตัวบุคคลมากเกินไป กระทั่งกลายเป็นเรื่อง ความทุกข์ของฉัน และ การกำจัด ความทุกข์ของฉัน พุทธศาสนิกชนหลายท่านตกอยู่ในหลุมพรางอันนี้ นี่คือเหตุผลพื้นฐานว่าทำไม เขาจึงไม่สนใจยุ่งเกี่ยวกับความทุกข์อันมากมายที่ห้อมล้อมเขาอยู่ทั้งโลก ข้อสังเกตอันนี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมหลายคนที่เรียกตัวเองว่า พุทธบริษัท จึงจมอยู่กับการปฏิบัติเฉพาะแต่ตัวเขาเอง โดยปราศจากการเข้าร่วมในความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของสังคม

ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมี ผู้ทำดี อยู่มากมาย พวกนี้ชุลมุนวุ่นวายอยู่กับการช่วยผู้อื่นในการกำจัดปัดเป่า ความทุกข์ของเขาทั้งหลาย เราจะพบคนเหล่านี้มากมายในโลกนักเคลื่อนไหวทางสังคม บ่อยครั้งที่เขาสนใจอยู่แต่ความทุกข์ของผู้อื่นมากเกินไป มากจนถึงระดับที่เขาลืมที่จะมองเข้าสู่ภายใน และเห็นความทุกข์ที่อยู่ภายในตัวเขาเอง ดังนั้นเราจึงต้องหลีกเลี่ยงหลุมพรางแห่ง ทุกข์ของท่าน หรือ ทุกข์ของพวกเขา ด้วย มิฉะนั้นเราจะสับสนหากเชื่อว่า ความทุกข์นั้นสามารถหยิบฉวยหรือแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ได้ เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงภาวะยุ่งยากสับสนทั้งสองฝ่ายดังกล่าว

ติดตามตอนต่อไป.....
พุทธยาน

เอกสารอ้างอิง: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล
Weblinks:
  1. อริยสัจจ์สี่ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ dhammajak.net
  2. อริยสัจจ์สี่ โดย องค์ดาไล ลามะ ตอนที่ 1/4 ตอนที่ 2/4 ตอนที่ 3/4 ตอนที่ 4/4

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน เนื้อเรื่อง

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ท่านอาจารย์สันติกโรภิกขุได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ภาค คือ
  1. ภาคต้น (ทุกข์ของสังคมและรากเหง้า)
  2. ภาคปลาย (ธัมมิกสังคมนิยมและการดับทุกข์)
ซึ่งก็คือท่านอาจารย์สันติกโรภิกขุได้ทำการแบ่งตามหลักอริยสัจจ์สี่นั่นเอง โดยในภาคต้นประกอบด้วยหมวดทุกข์และสมุทัย (ทุกข์ต้องกำหนดรู้และเหตุให้เกิดทุกข์ต้องละ) ส่วนในภาคปลายประกอบด้วยหมวดนิโรธและมรรค (ความดับทุกข์ต้องทำให้แจ้งและข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ต้องเจริญให้มากๆ)

ภาคต้น ท่านอาจารย์สันติกโรภิกขุได้แยกหัวข้อย่อยออกเป็น
  • เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่
  • พุทธยาน
  • การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์
  • โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว อันประกอบไปด้วย 1. ความโลภ (โลภะ) ทุนนิยม บริโภคนิยม 2. ความโกรธ (โกธะ) ลัทธิทหารและความอยุติธรรม 3. ความเกลียดชัง (โทสะ) ลัทธิเหยียดสีผิว ชนชั้นวรรณะ และลัทธิอภิสิทธิ์ชน 4. ความกำหนัด ทะเยอทะย่น (ราคะ) ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ 5. มายาคติด ความลุ่มหลง (โมหะ) การศึกษาและสื่อสารมวลชน 6. การแข่งขัน ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต 7. ความกลัว (ภยะ) เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา 8. ลัทธิอคติทางเพศ กิเลสทุกชนิด
  • ความซับซ้อนยุ่งยากแห่งลัทธิ
  • ความไม่รู้ (อวิชา) สาเหตุดั้งเดิมแห่งทุกข์
ภาคปลาย ท่านอาจารย์สันติกโรภิกขุได้แยกหัวข้อย่อยออกเป็น
  • โครงสร้างสังคมที่ประกอบด้วยธรรมะ
  • อริยมรรคทางสังคม 12 ประการ คือ 1. ศาสนาที่ถูกต้อง 2. การศึกษาที่ถูกต้อง 3. การนำที่ถูกต้อง 4. องค์กรและรัฐบาทที่ถูกต้อง 5. การสื่อสารที่ถูกต้อง 6. วัฒนธรรมที่ถูกต้อง 7. ความรู้สึกทางเพศ (กามารมณ์) และครอบครัวที่ถูกต้อง 8. เศรษฐกิจที่ถูกต้อง 9. นิเวศวิทยาที่ถูกต้อง 10. การละเล่นที่ถูกต้อง 11. การตรวจสอบการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง 12. สังฆะและความเป็นเอกภาพที่ถูกต้อง
  • ทรัพยากรมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
ตอนต่อไปจะดำเนินเรื่องในภาคต้น ตอนที่ 01

หนังสือเรื่องอริยสัจจ์สี่ที่เขียนโดยภิกษุต่างชาติมีหลายเล่ม แต่ที่พอหามาได้ มีที่นี่
หนังสือด้านพระพุทธศาสนาที่ได้วางตลาดในต่างประเทศ (โดยเฉพาะในอเมริกา) ลองดูได้ที่นี่

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม บทบรรณาธิการ

ในบรรดาผู้เรียกขานท่านพุทธทาสภิกขุว่า "ท่านอาจารย์" นั้น ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ว่า ท่านสันติกโรภิกขุมิใช่ผู้ทำงานหนัก ในการเผยแผ่คำสอนและสืบสานปณิธานของท่านพุทธทาสให้เป็นจริง และเป็นที่เข้าใจกันในวงกว้าง ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งโดยการแปลคำบรรยายจากแถบเสียงและหนังสือชุดธรรมโฆษณ์เป็นภาษาอังกฤษ การสอนและจัดอบรมอาณาปานสติแก่ชาวต่างชาติ (ในต่างประเทศ) การจัดทำ Website ของสวนโมกขพลารามและเผยแพร่ข้อมูลผ่านเครือข่าย Internet ตลอดจนการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่คฤหัสถ์และบรรพชิต ในด้านการประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรมอย่างสมสมัย ทั้งนี้ มิพักจะต้องกล่าวถึงการร่วมประชุมหรือการแลกเปลี่ยนทางวิชาการอันเนื่องด้วยคำสอนของท่านพุทธทาส และการเขียนบทความตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งท่านนี้กระทำอยู่อย่างสมำ่เสมอ ดังเป็นที่ยกย่องยอมรับของผู้ใฝ่ใจในศาสนธรรมอย่างมิได้เจือปนอคติตลอดมา

แต่ด้วยความที่ถือเอาธรรมเป็นใหญ่ อีกทั้งเป็นชาวอเมริกันซึ่งศรัทธาและเชื่อมั่นในเสรีภาพ มีความตรงไปตรงมาในการแสดงออก ชนิดที่กาย วาจา ตรงกับใจ จึงเป็นเหตุให้ท่านผู้นี้ เป็นที่แสลงใจของผู้คนอันมีสีลัพพตุปาทานและอัตตวาทุปาทานต่อท่านพุทธทาสและคำสอน ตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติและธรรมเนียมต่างๆ ในสวนโมกข์อยู่มิใช่น้อย ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปในสวนโมกข์และคณะสงฆ์ไทยอย่างถึงแก่น

ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ในบรรดาบุคคลที่ไม่เห็นพ้องกับท่านสันติกโรภิกขุเหล่านั้น หลายต่อหลายคนก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงในด้านมือถือสากปากถือศีลเอาเลยมิใช่หรือ? หากมักเป็นการนินทาว่าร้ายกันลับหลัง มิได้เปิดเผยตรงๆ ...หรือนี่จะเป็นปกติวิสัยของสังคมชนิดหน้าไหว้หลังหลอกไปเสียแล้ว? น่าเสียดายก็ที่สิ่งเหล่านี้มาเกิดขึ้นในแวดวงอันเคยใกล้ชิดกับท่านพุทธทาส (อันยังถือได้ว่าเป็นสดมภ์หลักท่านหนึ่งในฝ่ายเถรวาท) เท่านั้น

ที่กล่าวมายือยาวก็เพราะว่า ถึงที่สุดท่านสันติกโรภิกขุก็ไม่สามารถที่จะทนอยู่ปฏิบัติธรรมในท่ามกลางความไม่สัปปายะต่างๆ ได้อีกต่อไป ถึงกลับดำริที่จะต้องกลับไปทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมในประเทศอเมริกาในเร็ววัน ทั้งที่แต่เดิมตั้งใจจะวางรากฐานโครงการธรรมฑูตตามแนวคิดของท่านพุทธทาสที่เขตดอนเคี่ยมแห่งสวนโมกข์นานาชาติจนกว่าโครงการนั้นจะมั่นคง อย่างไม่มีกำหนดเวลา นี่นับว่าสังคมไทยต้องสูญเสียกัลยาณมิตรไปอีกท่านหนึ่งอย่างน่าน่าเสียดายนัก

กลุ่มพุทธทาสศึกษาคัดเลือกบทความเรื่อง "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม" ซึ่งจิรธัมม์แปลมาจาก "The Four Noble Truths of Dhammic Socialism" ของท่านสันติกโรภิกขุออกตีพิมพ์เผยแพร่ ด้วยเล็งเห็นว่า คนไทยน่าที่จะได้มีโอกาสอ่านผลงานของท่านผู้นี้อย่างแพร่หลายบ้าง โดยเฉพาะที่ไม่สามารถอ่านจากภาษาอังกฤษโดยตรง ซึ่งผู้เขียนมีผลงานแพร่หลายเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว

บทความชิ้นนี้แม้ว่ายังไม่สมบูรณ์อย่างถึงที่สุด แต่ก็เป็นพื้นฐ่นที่ดี ต่อการทำความเข้าใจเรื่องธัมมิกสังคมนิยม ทั้งผู้เริ่มต้นและผู้ที่ประสงค์ที่ศึกษาอย่างพิศดารต่อไป อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของผู้เขียนที่มีต่อหลักพุทธธรรม ตลอดจนคำสอนและแนวคิดของท่านพุทธทาสในด้านนี้ มิใช่สักแต่ว่าท่องบ่นวาจาของท่านพุทธทาสมากล่าวซ้ำ อย่างไม่ลืมหูลืมตา ดังที่มักกระทำกันโดยทั่วไป

สำหรับ "จิรธัมม์" ซึ่งเป็นผู้แปลแม้ว่าโดยชื่อออกจะใหม่อยู่บ้าง แต่การที่มีโอกาสใช้ชีวิตในชุมชนดอนเคี่ยม (สวนอตัมมยตาราม) ร่วมกับสันติกโรภิกขุและคณะสงฆ์นานาชาติอยู่ถึงสามปีเศษ ก็คงพอจะกล่าวได้ว่ามีความเข้าใจในชีวทัศน์และโลกทัศน์ของผู้เขียนอยู่ไม่น้อยทีเดียว

กลุ่มพุทธทาสศึกษาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม" เล่มนี้ จะเป็นอาหารทางความคิดที่มีคุณค่าและคุ้มค่าสำหรับท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังคงให้ความสนใจต่อแนวคิดธัมมิกสังคมนิยมได้ตามสมควร

บรรณาธิการ
ปลายพรรษา พุทธศักราข ๒๕๔๒

ข้อความข้างต้นเป็นบทบรรณาธิการโดยกลุ่มพุทธทาสศึกษา ที่ได้กล่าวเกริ่นเกี่ยวกับผู้เขียน ผู้แปล และเนื้อหาของหนังสืออย่างย่อ ... ตอนต่อไปจะได้เข้าเรื่องเสียที...

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ธัมมิกสังคมนิยม ตอน เกริ่นเรื่อง

ห่างหายจากบล็อคไปนานทีเดียวด้วยฝุ่นการเมืองและความขัดแย้งในสังคมไทยได้ก่อเกิด แต่เป็นสิ่งดีด้วยจะเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดีขึ้น ครานี้จึงปรารถนาจะช่วยเสริมพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีเท่าที่จะสามารถกระทำได้ จึงเห็นว่าบล็อคนี้จะเป็นแห่งที่และหนทางหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นและให้ความรู้ที่พอหาได้แก่สังคม
แล้วแอบไปเห็นหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง (ในไม่กี่เล่มที่อ่านจบ) เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ลองเสาะหาในอินเตอร์เนตก็มีเรื่องราวนี้อยู่น้อยมาก จึงตั้งใจจะเอามาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมบนอินเตอร์เนต หนังสือนี้ชื่อว่า "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม" ซึ่งเขียนโดย พระอาจารย์สันติกโรภิกขุ (เป็นภาษาอังกฤษ) และแปลโดย ท่านจิรธัมม์ พระอาจารย์สันติกโรภิกขุได้เขียนเรื่องนี้ในลักษณะขยายความ วิเคราะห์ด้วยหลักอริยสัจจ์สี่และแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมจากหนังสือที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรื่อง "ธัมมิกสังคมนิยม" อันเป็นแนวทางหนึ่งที่สังคมไทยน่าที่จะยิบยกขึ้นพิจารณาเพื่อจะได้ตระหนักและตระหนกต่อความทุกข์ของตนและของสังคมที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังขยายวงพัฒนาออกไปอย่างไร้การควบคุม ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรแล้วสภาวสังคมที่เป็นสุขสามารถคาดหวังได้มากน้อยแค่ไหนแล้วจะทำกันอย่างไรเราจึงจะได้มา
ด้วยเห็นว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและต้องการจะเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ จึงต้องอนุญาตจากพระอาจารย์สันติกโรภิกขุไว้ในที่นี้ด้วย ประโยชน์อันใดที่เกิดขึ้น กุศลอันใดที่ปรากฎขอให้ตกแด่พระอาจารย์สันติกโรภิกขุและคณะที่ได้จัดทำหนังสือเล่มนี้
ท่านพุทธทาสได้เขียนบันทึกบางส่วนเกี่ยว "ธัมมิกสังคมนิยม (แท้จริง)" ด้วยลายมือไว้ดังนี้
0 ครอบงำสิ่งมีชีวิตทุกระดับ (มนุษย์ - สัตว์ - พืช)
0 วัฒนธรรมทางจิตสูงสุดเมือมนุษย์รู้สึกว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดเป็นเพื่อน เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แก่กันและกัน
0 ธัมมิกสังคมนิยม ต้องมีเพราะธรรมขาติสร้างสิ่งมีชีวิตมาสำหรับอยู่กันเป็นหมู่
0 การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นองค์ประกอบแงค์หนึ่งของความอยู่รอดของสังคมสัตว์
0 ธัมมิกสังคมนิยม มีเพราะการทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนา (เพียง ๒ ศาสนา) อย่างเพียงพอ
0 ถ้าคาร์ลมาร์กรู้พุทธศาสนา ก็จะไม่พูดว่า ศาสนาเป็นยาเสพติด เพราะมันเป็นเพียงบางศาสนาเท่านั้น
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2542 ท่านอาจหาซื้อได้จากร้านขายหนังสือทั่วไป เช่น ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร้านซีเอ็ดฯ ร้านนายอินทร์ ธรรมสภา หรือที่สวนโมกขพลารามจังหวัดสุราษฎร์ฯ เป็นต้น
ตอนต่อไปจะเริ่มดำเนินเรื่องตามหนังสือ "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม"

วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

คำเทศนาสมเด็จฯโต พรหมรังสี 001

เช้านี้เห็นหนังสือวางเกะกะจึงหยิบจัดใหม่ เห็นหนังสือ ส.ค.ส. ๒๕๔๖ เป็นปฏิทินโหราศาสตร์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๖ จำได้ว่าด้านในบทท้ายของปฏิทินโหรฯนั้นมีเรื่องราวบางส่วนเกี่ยวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี เห็นว่าควรคัดลอกคำสอนของท่านมาไว้ให้อ่านกัน เพื่อเตือนสติ ให้ข้อคิดดีๆแก่ท่าน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
"ลูกเอ๋ย ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเองคือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนล้นพ้นตัว ... เมื่อทำบุญกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว ... แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ภพหน้า
หมั่นสร้างบารมีไว้ ... แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง ...!"
"จงจำไว้นะ... เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้... ครั้นถึงเวลา... ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่... จงอย่าไปเร่วเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า"

จาก คำเทศนาของเจ้าประคุณ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ปกหลังใน ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย ส.ค.ส. ๒๕๔๖

นอกจากนี้ท่านอาจอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับท่านเจ้าประคุณฯเพิ่มเติมได้อีก เช่น
ประวัติย่อของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯโต พรหมรังสี โดยชุมนุมของคนรักษ์พระ
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมเด็จฯโต ในเว็บทำบุญนำชีวิต บารมีธรรมนำพา
ฟังเสียงบทสวดมนต์ คาถาชินบัญชร

วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ตั้งใจ เต็มใจ พอใจ

เช้าวันหนึ่ง สวยเสมอเดินมาพบเห็นชายคนหนึ่งกำลังยื่นดูหมู่ดอกไม้ที่กำลังบานอยู่อย่างสงบ จึงเข้าไปทักทาย
"พี่ชายสง่า กำลังทำอะไรอยู่"
ชายสง่าตอบกลับมาแบบไม่ได้หันหน้ามายังคนทักทายเลยว่า
"กำลังดูผึ้งเก็บเกษรดอกไม้นี้อยู่"
สวยเสมอขยับเดินเข้าใกล้ชายหนุ่มแล้วกล่าว
"ก็ไม่เห็นแปลกเลยนิพี่"
คราวนี้ชายสง่าหันมาตอบกับสาวน้อยด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความอิ่มอกอิ่มใจว่า
"ผึ้งบินเก็บเกษรดอกไม้ที่มีความหวานนั้นไม่แปลกหรอก สวยเสมอ แต่ที่เธออาจยังไม่เห็นก็คือตัวพี่นี่แหละ" สวยเสมอขมวดคิ้วแล้วถามต่อ
"ยังไง? เข้าไม่ถึงใจ?"
อ้าวแอบกวนแล้วไม่เนี่ย แต่ชายสง่าเพียงยิ้มนิดแล้วตอบว่า
"พี่เห็นผึ้งบินว่อนตอมดอกไม้บริเวณนี้อยู่ จึงเดินเข้ามาดูใกล้ๆ แล้วพี่ก็ได้อะไรบางอย่าง"
สวยเสมอไม่ขัดจังหวะ ชายสง่าจึงกล่าวต่อ
"พี่ตั้งใจตามมาดูผึ้งทำงาน เมื่อมายืนอยู่ใกล้ๆฝูงผึ้งพี่ก็ไม่ได้กลัวว่ามันจะหันมาต่อยพี่เลย เพราะตั้งใจบินมาเก็บน้ำหวานจากเกษรดอกไม้เท่านั้น เสร็จแล้วก็จะบินกลับรังเพื่อเอาน้ำหวานไปเก็บไว้ เว้นเสียแต่ว่าเราจะไปทำอันตรายกับผึ้งเหล่านั้นเข้าเท่านั้น พวกมันจึงจะหันมาต่อยตีเอากับเรา นั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่สำคัญคือเหตุการณ์นี้ทำให้พี่ได้เข้าใจในคำสอนของหลวงปู่ที่ท่านสอนพี่เมื่อวานว่า...
จะทำงานการอะไรทุกอย่างให้...ตั้งใจ...เต็มใจ...แล้วพอใจ...
พี่ตั้งใจมาดูผึ้งทำงาน พี่เต็มใจเข้ามาดูผึ้งทำงานใกล้ๆโดยไม่หวั่นภัยใดๆ พี่เห็นความขยัน การร่วมใจกันทำงานของผึ้งแล้วพี่ก็รู้สึกอิ่มใจพอใจ พี่จึงได้เข้าใจ...เดี๋ยวพี่จะกลับไปอาบน้ำแล้ววางแผนที่จะทำงานในวันนี้ให้รอบคอบ จะทำด้วยความเต็มใจและมีสติกับตัวรู้อยู่กับงาน แล้วพึ่งพอใจในการทำงาน ในผลงานและตัวพี่เอง...กลับกันเถอะสาวน้อย"
สวยเสมอทำหน้างงนิดๆ ยิ้มน้อยๆให้กับพี่ชายแล้วเดินตามไป

ตั้งอกตั้งใจ...เต็มอกเต็มใจ...พออกพอใจ...ในงานที่ทำ
คิดให้ดีก่อนทำ ทำให้ดีอย่างมีสติ และมีปิติยินดีในสิ่งที่ได้ทำ

คำสอนดีๆของหลวงปู่พุทธอิสระ

สวยเสมอเข้าอินเตอร์เนต ประมาณว่าจะค้นหา "วิธีการหายใจ" ที่ถูกต้อง แต่ไปเจอเว็บบอร์ดคำสอนของหลวงปู่พุทธอิสระเข้า อ่านตอนหนึ่งแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ยิ่งจึงคัดมาให้อ่านกันดังนี้

วันนี้เรามาสวดมนต์กันในบทการพิจารณาร่างกาย จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องเก่าที่ทุกคนมี และก็พูดกันเข้าใจ แต่ไม่ค่อยขยันที่จะทำความซาบซึ้งกับมัน หลวงปู่ใช้คำว่า “ เข้าใจกับซาบซึ้ง ” เข้าใจเฉย ๆ บางทีบางครั้ง มันก็ไม่ซาบซึ้ง มันก็ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ ในขณะที่สวดมนต์คิดไปว่า “ พระพุทธเจ้า ” พระองค์ช่างเป็นคนที่ละเอียดอ่อนสุขุมคัมภีรภาพ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ แม้แต่วาระสุดท้ายของชีวิตพระองค์ ในขณะที่อายุ 80 แล้ว คนแก่ที่อายุ 80 ก่อนจะตาย หรือใกล้ตาย หรือกำลังจะตาย น่าจะมีความรู้สึกว่า ห่วงหวงตนเอง แต่ตรงกันข้าม พระองค์กลับต้องให้ความเอื้ออาทร หรือมีความเอื้ออาทรต่อสรรพสัตว์ และพวกเราทั้งหลายอย่างสุดชีวิต ก่อนที่พระองค์จะตาย ยังสู้อุตส่าห์สั่งเสีย ด้วยภาษาใจ กลายเป็นวลีที่สุดแสนจะเสนาะ ไพเราะ และมีค่ายิ่งว่า

หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว..
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า ..
วะยะธัมมาสังขารา ..
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา..
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ
ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ..
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา ..
นี่เป็นพระวาจาครั้งสุดท้าย ของเราตถาคต..

ด้วยคำพูดประโยคนี้ เราจะเห็นว่าพระองค์ช่วงเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เต็มเปี่ยมไปด้วยพระปัญญาคุณ เต็มเปี่ยมไปด้วยความเอื้ออาทร ความกรุณาต่อพวกเรา อย่างสุดชีวิตจิตใจ แม้แต่ในวาระสุดท้ายที่พระองค์จะ “ ปรินิพพาน ” หรือจากเราไป พระองค์ก็ยังทรงห่วงใยอาทร เฝ้าเตือนเราให้ระวังรักษาประโยชน์ของตน และประโยชน์คนอื่น พระองค์ยังอาทรห่วงใย เฝ้าเพียรพยายาม อบรมสั่งสอน พร่ำบ่นเตือนสติให้เรายั้งคิดว่า โดยจริงแล้ว ร่างกายเรา ที่เราเฝ้าทะนุถนอมรักษาเลี้ยงดูมัน ทำนุบำรุงมัน ห่วง หวงอย่างสุดชีวิตจริง ๆ แล้ว มันเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เรากำลังทำให้มันผิดธรรมดาถ้าเราเห็นคนเกิดดีใจ เห็นคนแก่เสียใจ เห็นคนตายร้องไห้ ถือว่าเป็นความเห็นผิดธรรมดา เพราะพระองค์ทรงเตือนเราสอนเรา บอกให้เรารู้ว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” ความเรื่องนี้มีเหตุปัจจัยที่พระองค์ทรงเตือนให้เราเข้าใจ ถึงความเป็นจริง.. ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงอาพาธ ถึงกับเวทนากล้า ใกล้ถึงปรินิพพาน พระอานนท์พระพุทธอุปฐากผู้เป็นอนุชา ท่านอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เล็กจนกระทั่งโตแล้วก็แก่ บัดนี้ พระศาสดาเจ้าจะปรินิพพานจากเราไปแล้ว ครั้งเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ทั่วทุกสารทิศสุกสกาวแจ่มแจ้ง ด้วยธรรมจักรวาลจะดับลงแล้ว ต่อแต่นี้ไป ทั้งทุกสารทิศคงจะมืดมน ไม่สุกสว่างเหมือนเดิมเป็นแน่ ปกติทุกวันเราต้องปฏิบัติทำนุบำรุง ปูอาสนะ ปัดกวาดเช็ดถู จัดหาน้ำใช้ น้ำฉัน ผ้าผ่อนท่อนสไบ เราต้องซักและพับ ต่อไปนี้ เราจะซักให้ใคร ทำนุบำรุงใคร และอุปฐากอุปถัมภ์ใครอีก พระอานนท์ก็เสียใจ แอบไปยืนร้องให้ พระศาสดาทรงทราบเข้า ทรงรู้ได้ด้วยญาณวิถี พระองค์ก็ทรงเรียกพระอานนท์และพระภิกษุทั้งหลายเข้ามาใกล้ ด้วยพระกำลังอันน้อยนิดที่จะพึงมีพูดออกมาเป็นภาษาคนให้เข้าใจสื่อความหมายกันได้โดยการเตือนว่า..

“ อานนท์ เธอจงอย่าเสียใจไปเลย เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วพระธรรมวินัยจะเป็นพระศาสดาสอนเธอเอง ”
“ ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา การที่พวกเธอทั้งหลายจะมานั่งเศร้าโศกเสียใจ ร้องให้ทุรนทุรายกับคนแก่คนหนึ่งที่ใกล้จะตาย ไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หรือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาเธอกำลังทำชีวิตให้ผิดธรรมดา เพราะ ธรรมดาของโลกและสังขาร มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง แล้วก็แตกสลายในที่สุด เราตถาคต ก็เป็นดั่งนั้น ตกอยู่ในกฎเกณฑ์และกติกาแห่งความเป็นธรรมดาเช่นนั้น ไมมีใครในโลกจะพึงหนีพ้นได้ เช่นนี้ การที่เธอทั้งหลายมาเฝ้าเศร้าโศกเสียใจร้องไห้ อาลัยรักต่อเรามิใช่เรื่องธรรมดา ไม่ใช่ตระกูลศากยะ ไม่ใช่สาวกแห่งเราตถาคต ไม่ใช่พุทธอุปฐาก ไม่ใช่พุทธะอนุชา และก็ไม่ใช่สาวกแห่งพระศาสดา เพราะท่านกำลังจะทำเรื่องธรรมดาให้ผิดธรรมดา จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน สุดท้ายก็แตกสลาย ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ท่านที่รักทั้งหลาย การที่พระศาสดาทรงมีความเอื้ออาทรสุดชีวิตจิตใจต่อพระสงฆ์สาวก ต่อพวกเราพุทธบริษัททั้งหลาย ด้วยเอื้อนเอ่ยวาจาครั้งสุดท้ายให้เรารับรู้ว่า
“ สังขารทั้งหลายมันมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน และก็ประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด.. ”
เพราะฉะนั้น คำว่า “ ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ” เราจะเห็นว่าพระองค์ทรงเตือนเรา ให้มีชีวิตอยู่อย่างให้ประโยชน์ ทำประโยชน์ แล้วจึงจะรับประโยชน์ พระองค์ไม่ได้เตือนให้เราเป็นผู้รับประโยชน์ ให้ประโยชน์ แล้วจึงทำประโยชน์ แต่พระองค์ทรงเตือนให้เราเป็นผู้ให้ประโยชน์ ทำประโยชน์ แล้วจึงรับประโยชน์ พระองค์เตือนให้เรามีชีวิตอยู่อย่างใช้ประโยชน์ในชีวิตให้คุ้มค่าในการที่ได้เกิดมาเป็นคนกับเขาชาติหนึ่ง อย่าปล่อยตัวเองให้หลงใหลลื่นถลากับ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ก็ถือว่าการกระทำชนิดนั้น เป็นการกระทำชั่วทางกาย ทางใจ ทางวาจา คนที่จะทำชั่ว หลวงปู่เคยพูดว่า.. ไม่ใช่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน จึงถือว่าชั่ว คนที่ทำชั่วมิใช่ตีหัวคนอื่นจึงจัดว่าชั่ว แต่คนชั่วก็คือคนที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์ในการมีชีวิตและเกิดมามีชีวิตก็ไม่คิดบริหารให้สร้างสาระ แถมบางทียังทำร้ายสาระผู้อื่น คนที่เป็นคนชั่วก็คือคนที่ไม่ทำให้ตนเองได้รับประโยชน์จากการมีชีวิต คนที่เป็นคนชั่ว คือคนที่ทำลายประโยชน์อันพึงได้พึงถึง จากการพิสูจน์ “ เรียนรู้..รับทราบแล้วก็พัฒนาตน ” มิใช่คนที่ทำชั่วโดยการทำให้คนอื่นเดือดร้อน คนที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนมิใช่คนที่ทำชั่ว แต่ถือว่าเป็นคนเลวแต่คนชั่ว ก็คือ คนที่มีชีวิตอยู่อย่างไม่ให้ประโยชน์แก่ตนถ่องแท้ ประโยชน์ที่ถ่องแท้ก็คือ “ ประโยชน์ที่ปลุกจิตวิญญาณของตนให้เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ” ตามสถานการณ์ความเป็นจริงของโลก คนที่ให้ประโยชน์อย่างถ่องแท้แก่ตนเอง ไม่จัดว่าเป็นคนชั่วในสายตาคนอื่น วิถีชีวิตพระศาสดาพระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ก็คือ คนที่รู้ตื่น และเบิกบานในการดำรงชีวิตมีวิถีและวิธีการในการที่จะแสวงหา ทำ จำ พูด และคิดในการสร้างสมอบรมบ่มนิสัยให้เป็นผู้ได้ประโยชน์อย่างถ่องแท้จากการมีชีวิตเหล่านี้จึงถือว่าพระองค์ทรงเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีเป็นแบบอย่างของคนไม่ชั่ว คิดไม่ชั่ว ทำไม่ชั่ว และก็พูดไม่ชั่ว ซึ่งชาวเราทั้งหลาย ต้องเอาเป็นแบบอย่างพร้อมกันนั้น พระองค์ก็ยังทรงมีพระเมตตาและมหากรุณา แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง โดยการอบรมสั่งสอน แนะนำวิถีอันประเสริฐ ให้สัตว์ทั้งปวงได้รู้และเดินตาม ไปสู่ความสำเร็จของชีวิตประเสริฐอีกด้วย เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม ถึงแม้ว่าไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ทำร้ายทำลายประโยชน์ตน อันพึงได้จากการกระทำหรือคำที่พูดความจริงจึงถือว่าคนคนนั้นเป็นคนชั่ว เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการที่เราปฏิเสธเรื่องจริง หลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในเรื่องไม่จริง ต้องเกิดเป็นคนโง่ถึง 500 ชาติ คนเช่นนี้จึงถือได้ว่าไม่รักตนเอง ตัวเองยังไม่รัก ตัวเองยังไม่ให้ประโยชน์ สาอะไรที่จะให้ประโยชน์และรักคนอื่น ฉะนั้น คนที่ชั่ว ไม่ใช่ชั่วจากการกระทำตัวให้เป็นโทษเป็นภัยต่อคนอื่น คนที่เป็นคนชั่วก็คือ คนที่ทำตัวเองให้เป็นโทษ เป็นภัยกับตัวเองและมีชีวิตอย่างไร้สาระ และไม่ได้ประโยชน์จากการเกิด ไม่ได้ประโยชน์จากการใช้พลังงาน ไม่ได้ประโยชน์จากการกิน ไม่ได้ประโยชน์จากการมีชีวิต และไม่ได้ประโยชน์จากการใช้ลมหายใจ แล้วชีวิตเช่นไร วิถีทางอย่างไร จึงจะถือว่าเต็มไปด้วยการมีประโยชน์ ได้แก่ วิถีทางแห่งความเป็นผู้รู้ รู้ในหน้าที่ หน้าที่ของความเป็นคน หน้าที่ของความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นผัว เป็นตัวตนของตนเอง และสุดท้ายก็หน้าที่ของการมีชีวิตที่แสวงหาหนทางแห่งการพึ่งพิงอาศัยอันประเสริฐและวิธีหลุดพ้นจากบ่วงเครื่องร้อยรัดทั้งปวง นั่นคือหน้าที่สุดท้ายที่เราต้องทำ แต่ถ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่สมบูรณ์ บกพร่อง ไม่ถูกต้อง พระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ในโลกทั้งหลาย ก็จะเรียกขานบุคคลเหล่านั้นว่า เป็นบุคคลผู้เปล่าประโยชน์ เป็น “ อัพภัพพะบุคคล ” เป็น “ โมฆะบุรุษ ” เป็น “ โมฆะสตรี ” ชาวโลกเรียกขานคนเหล่านั้นว่าเป็นคนชั่ว และถ้าอยากเป็นคนเลว ก็ต้องทำให้คนอื่นได้รับโทษจากการกระทำ คำที่พูด สูตรที่คิดของเรา การกระทำเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่จงใจ หรือมิจงใจ ถือว่าเป็นเหตุให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน เช่นนี้จัดว่าเป็นคนเลว เพราะฉะนั้น พระศาสดาทรงรู้ว่าคนจะชั่วก็ได้ จะเลวก็ได้ด้วยความประมาท จะชั่วก็ได้ จะเลวก็ได้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจหลักการเป็นจริงของโลกสังขารและสังคม พระองค์จึงต้องเตือนด้วยความเอื้ออาทรสุดชีวิตจิตใจ ครั้งสุดท้ายว่า “ หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว..ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า .. วะยะธัมมา สังขารา...สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา...อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ..ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด .. อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมาวาจา...นี่เป็นพระวาจาครั้งสุดท้ายของเราตถาคต ” ถ้าเราเข้าใจและทำได้อย่างนี้ ถือว่าเราป้องกันทั้งความชั่วในการมีชีวิตของตัวเอง และความเลวที่จะทำให้แตกหักกับสังคม เราจะเห็นว่าพระศาสดาสัมมาสัมพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยความเอื้ออาทร และความกรุณาสุดหัวใจ แม้แต่วันตาย ครั้งสุดท้ายพระองค์ยังคิดถึงผู้อื่น คิดถึงพวกเราที่กลัวว่าจะมีชีวิตอยู่ด้วยความประมาท ขลาดเขลา ไร้สติ ไร้สามัญสำนึก ไร้การพินิจพิจารณา และกลับกลายเป็นบุคคลที่มีชีวิตชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว คิดชั่ว จนที่สุดก็กลายเป็นคนเลวที่ทำแต่เรื่องเดือดร้อนต่อคนอื่น จนคนอื่นเรียกขานประณามเราว่า คนเลว...

จากหนังสือทำวัตร-สวดมนต์แปล
หลวงปู่พุทธอิสระ
วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม

สนใจจะอ่านตอนอื่นๆด้วย ก็คลิกที่นี่

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

กายบริหารแกว่งแขน


Tell You the Good Things บอกเล่าคุณแต่สิ่งดีๆ

สวยเสมอเธอตื่นเช้ามา เมื่อขับถ่ายชำระร่างกายเสร็จแล้ว
เธอใช้ความพยายามขยับกายง่ายๆ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งใจและกาย ก่อนออกไปผจญภัยบนท้องถนนและทางสัญจรจนถึงที่ทำงาน
"กายบริหารแกว่งแขน"
เธอไปพบหนังสือนี้จากร้านขายหนังสือแห่งหนึ่ง
หน้าปกมีรูปวาดพู่กันจีนของปรมาจารย์ตั๊กม้อ หรือพระโพธิธรรม พระภิษุชาวอินเดียที่นำศาสนาพุทธนิกายเซนไปเผยแผ่ในประเทศจีนเมื่อประมาณ ๑๔๐๐ ถึง ๑๕๐๐ ปีก่อนโน่นแล้วขยายไปเจริญในประเทศญี่ปุ่น และในประเทศไทยได้มีนักปราชญ์หลายท่านได้แปลหลักธรรมในแนวเซนให้ประชาชนได้ศึกษากัน มีท่านพุทธทาสเป็นต้น ชนชาวบู๊ลิ้มผู้นิยมนิยามกำลังภายในคงรู้จักกันดีกับวิชาสิบแปดฝ่ามืออรหันต์ เจ็ดสิบสองท่าพุทธธรรม หรือวิชาหมัดมวยของหลวงจีนแห่งวัดเสียวลิ้มยี่ที่ปรากฎอยู่ในนิยามกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง เช่น มังกรหยก และเรื่องอื่นๆอีกมากมาย พระโพธิธรรมหรือพระปรมาจารย์ตั๊กม้อคือเจ้าของวิชาเหล่านั้น
และกายบริหารแกว่งแขนนี้ คือ "คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นของพระโพธิธรรม" ที่ได้ตกทอดมาถึงอนุชนยุคปัจจุบัน สามารถฝึกฝนได้ง่ายให้ผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ระยะสั้นคือ สวยเสมอรู้สีกได้ว่าเลือดลมในกายได้ไหลเวียนคล่องขึ้นและรู้สึกว่าร่างกายมีความอบอุ่น ซึ่งตรงกับที่พระโพธิธรรมได้สอนหลวงจีนวัดเสี่ยวลิ้มยี่ให้ฝึกทุกเช้าเพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับอากาศหนาวได้
ส่วนระยะยาวนั้น เมื่อระบบการไหลเวียนโลหิตดีเสียแล้ว สุขภาพร่างกายก็แข็งแรงสมบูรณ์เป็นผลตามมา แต่ ในหนังสือได้กล่าวถึงการฝึกกายบริหารแกว่งแขนนี้เพื่อการบำบัดโรคหลายโรคด้วย
สวยเสมอไม่รอช้าแล้ว
ขอฝึกวันนี้สัก ๓๐ นาทีก่อนไปทำงาน
อ้าว...ยังไม่รู้เลยว่าฝึกอย่างไง...
เอา...มาดูรูปแบบการฝึกได้ที่นี่ หรือ ที่นี่
หรือจะซื้อเป็นหนังสือ ก็ลองไปหาดูที่ร้านซีแอด
ถ้าอ่านพิจารณาแล้วเห็นประโยชน์จะพิมพ์แจกเป็นธรรมทานหรือในงานใดลองติดต่อที่
บริษัท ธีรสาส์น พับลิชเชอร์ จำกัด
๔๒๔๒ หมู่ ๑ ถนนสุขุมวิท ซอย ๑๐๗
สำโรงเหนือ
สมุทรปราการ ๑๐๒๗๐
โทร. ๐๒ ๓๙๘ ๕๙๑๖ หรือ ๐๒ ๗๔๙ ๗๙๓๐

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ให้คุณแต่สิ่งที่ดีๆ

ให้คุณแต่สิ่งที่ดีๆ
มีแต่สิ่งดีๆให้คุณ
ตั้งแต่ตื่นนอน ผ่านกิจกรรมต่างๆในแต่ละวัน จนกลับมาพักผ่อนนอนหลับอีกครั้ง
เราคงวุ่นวายกับการคิด การพูด และการกระทำในหลากหลายกิจกรรม
เริ่มตั้งแต่ขับถ่ายกากอาหารส่วนเกินเพื่อให้วงจรอาหารการหล่อเลี้ยงร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ปกติ
ชำระร่างกายด้วยการอาบน้ำแปรงฟัน เป็นการเรียกความสดชื้นทั้งร่างกายและจิตใจ ...ตื่น ตื่น ตื่น...
ก่อนบำรุงร่างกายด้วยอาหารที่พร้อมประโยชน์เพื่อให้กายมีพละกำลัง
พร้อมแล้วในวันนี้ที่จะออกไปแสวงหาปัจจัยเพื่อแลกเปลี่ยนกับการดำรงชีพ
...บางคนหาได้เพียงพอใช้ไปวันๆ
...บางคนหาได้พอใช้ไปได้เป็นเดือน
...บางคนหาได้มากพอได้ใช้เป็นปี
...บางคนไม่รู้ทำอะไรดีแต่มีใช้ไปชั่วชีวิต
แต่ละคนย่อมต้องมีการพัฒนาตน
ทั้งพัฒนาร่างกายให้สุขภาพอยู่ดีไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน
ทั้งต้องพัฒนาความรอบรู้ในวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแสวงหาปัจจัย
ทั้งต้องพัฒนานิสัยให้สิ่งดีๆแก่สังคมที่ล้อมรอบข้าง
ทั้งต้องแสวงหาสิ่งบันเทิงไว้บ้างเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าทั้งกายใจในแต่ละวัน
ทั้งอาจต้องกลับมาทบทวนความฝันและพักผ่อนในที่พักอาศัย
เพื่อชาร์ตประจุไฟใจและกายให้เต็มพร้อมสำหรับวันใหม่
ด้วยการฝึกฝนในท่วงท่าเพื่อเสริมกำลังทั้งร่างกายและจิตใจ
เราต้องดำเนินชีวิตไปอย่างนี้...อย่างนี้...อย่างนี้...
จนกว่าชีวีนี้จะหาไม่...เมื่อไรก็ไม่รู้...
คิด...พูด...ทำ...ในสิ่งที่ดีอย่างมีสติครับ
สังคมรอบข้างเราจะปกติดีและอยู่กันอย่างเป็นสุข
ขอเป็นกำลังใจ...