วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม บทบรรณาธิการ

ในบรรดาผู้เรียกขานท่านพุทธทาสภิกขุว่า "ท่านอาจารย์" นั้น ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ว่า ท่านสันติกโรภิกขุมิใช่ผู้ทำงานหนัก ในการเผยแผ่คำสอนและสืบสานปณิธานของท่านพุทธทาสให้เป็นจริง และเป็นที่เข้าใจกันในวงกว้าง ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งโดยการแปลคำบรรยายจากแถบเสียงและหนังสือชุดธรรมโฆษณ์เป็นภาษาอังกฤษ การสอนและจัดอบรมอาณาปานสติแก่ชาวต่างชาติ (ในต่างประเทศ) การจัดทำ Website ของสวนโมกขพลารามและเผยแพร่ข้อมูลผ่านเครือข่าย Internet ตลอดจนการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่คฤหัสถ์และบรรพชิต ในด้านการประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรมอย่างสมสมัย ทั้งนี้ มิพักจะต้องกล่าวถึงการร่วมประชุมหรือการแลกเปลี่ยนทางวิชาการอันเนื่องด้วยคำสอนของท่านพุทธทาส และการเขียนบทความตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งท่านนี้กระทำอยู่อย่างสมำ่เสมอ ดังเป็นที่ยกย่องยอมรับของผู้ใฝ่ใจในศาสนธรรมอย่างมิได้เจือปนอคติตลอดมา

แต่ด้วยความที่ถือเอาธรรมเป็นใหญ่ อีกทั้งเป็นชาวอเมริกันซึ่งศรัทธาและเชื่อมั่นในเสรีภาพ มีความตรงไปตรงมาในการแสดงออก ชนิดที่กาย วาจา ตรงกับใจ จึงเป็นเหตุให้ท่านผู้นี้ เป็นที่แสลงใจของผู้คนอันมีสีลัพพตุปาทานและอัตตวาทุปาทานต่อท่านพุทธทาสและคำสอน ตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติและธรรมเนียมต่างๆ ในสวนโมกข์อยู่มิใช่น้อย ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปในสวนโมกข์และคณะสงฆ์ไทยอย่างถึงแก่น

ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ในบรรดาบุคคลที่ไม่เห็นพ้องกับท่านสันติกโรภิกขุเหล่านั้น หลายต่อหลายคนก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงในด้านมือถือสากปากถือศีลเอาเลยมิใช่หรือ? หากมักเป็นการนินทาว่าร้ายกันลับหลัง มิได้เปิดเผยตรงๆ ...หรือนี่จะเป็นปกติวิสัยของสังคมชนิดหน้าไหว้หลังหลอกไปเสียแล้ว? น่าเสียดายก็ที่สิ่งเหล่านี้มาเกิดขึ้นในแวดวงอันเคยใกล้ชิดกับท่านพุทธทาส (อันยังถือได้ว่าเป็นสดมภ์หลักท่านหนึ่งในฝ่ายเถรวาท) เท่านั้น

ที่กล่าวมายือยาวก็เพราะว่า ถึงที่สุดท่านสันติกโรภิกขุก็ไม่สามารถที่จะทนอยู่ปฏิบัติธรรมในท่ามกลางความไม่สัปปายะต่างๆ ได้อีกต่อไป ถึงกลับดำริที่จะต้องกลับไปทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมในประเทศอเมริกาในเร็ววัน ทั้งที่แต่เดิมตั้งใจจะวางรากฐานโครงการธรรมฑูตตามแนวคิดของท่านพุทธทาสที่เขตดอนเคี่ยมแห่งสวนโมกข์นานาชาติจนกว่าโครงการนั้นจะมั่นคง อย่างไม่มีกำหนดเวลา นี่นับว่าสังคมไทยต้องสูญเสียกัลยาณมิตรไปอีกท่านหนึ่งอย่างน่าน่าเสียดายนัก

กลุ่มพุทธทาสศึกษาคัดเลือกบทความเรื่อง "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม" ซึ่งจิรธัมม์แปลมาจาก "The Four Noble Truths of Dhammic Socialism" ของท่านสันติกโรภิกขุออกตีพิมพ์เผยแพร่ ด้วยเล็งเห็นว่า คนไทยน่าที่จะได้มีโอกาสอ่านผลงานของท่านผู้นี้อย่างแพร่หลายบ้าง โดยเฉพาะที่ไม่สามารถอ่านจากภาษาอังกฤษโดยตรง ซึ่งผู้เขียนมีผลงานแพร่หลายเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว

บทความชิ้นนี้แม้ว่ายังไม่สมบูรณ์อย่างถึงที่สุด แต่ก็เป็นพื้นฐ่นที่ดี ต่อการทำความเข้าใจเรื่องธัมมิกสังคมนิยม ทั้งผู้เริ่มต้นและผู้ที่ประสงค์ที่ศึกษาอย่างพิศดารต่อไป อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของผู้เขียนที่มีต่อหลักพุทธธรรม ตลอดจนคำสอนและแนวคิดของท่านพุทธทาสในด้านนี้ มิใช่สักแต่ว่าท่องบ่นวาจาของท่านพุทธทาสมากล่าวซ้ำ อย่างไม่ลืมหูลืมตา ดังที่มักกระทำกันโดยทั่วไป

สำหรับ "จิรธัมม์" ซึ่งเป็นผู้แปลแม้ว่าโดยชื่อออกจะใหม่อยู่บ้าง แต่การที่มีโอกาสใช้ชีวิตในชุมชนดอนเคี่ยม (สวนอตัมมยตาราม) ร่วมกับสันติกโรภิกขุและคณะสงฆ์นานาชาติอยู่ถึงสามปีเศษ ก็คงพอจะกล่าวได้ว่ามีความเข้าใจในชีวทัศน์และโลกทัศน์ของผู้เขียนอยู่ไม่น้อยทีเดียว

กลุ่มพุทธทาสศึกษาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม" เล่มนี้ จะเป็นอาหารทางความคิดที่มีคุณค่าและคุ้มค่าสำหรับท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังคงให้ความสนใจต่อแนวคิดธัมมิกสังคมนิยมได้ตามสมควร

บรรณาธิการ
ปลายพรรษา พุทธศักราข ๒๕๔๒

ข้อความข้างต้นเป็นบทบรรณาธิการโดยกลุ่มพุทธทาสศึกษา ที่ได้กล่าวเกริ่นเกี่ยวกับผู้เขียน ผู้แปล และเนื้อหาของหนังสืออย่างย่อ ... ตอนต่อไปจะได้เข้าเรื่องเสียที...

ไม่มีความคิดเห็น: