วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน พุทธยาน

จากตอนที่แล้วได้กล่าวถึง "เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่" ตอนต่อไปนี้จะกล่าวถึง "พุทธยาน"

พุทธยาน

ในทำนองเดียวกันเราก็ต้องหลีกเลี่ยงความอวดดีของ "มหายาน" และความคับแคบของ "หินยาน" ด้วย วิธีคิดอันคับแคบของหินยานที่สนใจเฉพาะเรื่องการหลุดพ้นเฉพาะตนเฉพาะปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องที่ไม่ใช่พระพุทธประสงค์อย่างแน่ชัด ถ้าใครศึกษาคัมภีร์บาลีในเถรวาท จะเห็นได้ชัดว่าพระพุทธองค์นั้นสนใจผูกพันกับความทุกข์ของสรรพสัตว์ รวมทั้งความทุกข์ของพระองค์เองและความทุกข์ของทุกคนที่แวดล้อมพระองค์ตั้งแต่วันที่พระองค์เสด็จออกผนวช อีกด้านหนึ่ง เราต้องหลีกเลี่ยงความอวดโอ่ในจุดยืนของฝ่ายที่เรารู้จักกันดีคือ "มหายาน" ที่คิดว่า "ฉันกำลังแก้ไขความทุกข์ให้ผู้อื่น" แทนที่จะทำอย่างนั้นข้าพเจ้าขอเสนอว่า เราควรทำตามมรรควิธีของพุทธยาน

พุทธยานไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่าง "ทุกข์ของฉัน" หรือ "ทุกข์ของท่าน" หรือ "ทุกข์ของพวกเขา" ทว่าพุทธยานค้นหาหนทางในการขจัดและดับทุกข์ที่ไหนก็ตามที่มันเกิดขึ้น พุทธยานไม่ได้อ้างว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาของผู้อื่น แต่พุทธยานนั้นปรารถนาที่จะรับใช้ เกื้อหนุน ส่งเสริมและช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อที่พวกเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาของพวกเขาเอง พุทธยานทำหน้าที่ในระดับที่เป็นเพื่อนร่วมงานและเป็นกัลยามิตร

ประการที่สอง พุทธยานดระหนักว่าเพื่อที่จะไปสู่ความสิ้นสุดทุกข์และแก้ปัญหาเหล่านี้ เราต้องจัดการกับสาเหตุรากเหง้าของมัน เราต้องสืบสวนอย่างลึกซึ้งรอบคอบ กระทั้งเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า อะไรคือสาเหตุรากเหง้าสำคัญแห่งทุกข์ทั้งภายในและภายนอก ทั้งปัญหาในระดับบุคคลส่วนตัวเราเองและปัญหาระดับสังคมส่วนรวม เราไม่สามารถหยุดอยู่แค่การวิเคราะห์ที่ผิวเผินซึ่งครอบงำพวกเราอยู่ ทั้งฝ่ายนักเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายปฏิบัติการจริงด้านศาสนา

ประการที่สาม พุทธยานวางอยู่บนความเคารพต่อพื้นฐานแห่งกฎอิทัปปัจจยตา (ความเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน) และสุญญตา (ความว่างจากตัวตน) อิทัปปัจจยตาคือความจริงที่ว่าธรรมะและปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงต่างก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของปรากฏการณ์อื่น และต่างก็เชื่อมต่อและสัมพันธ์กัน โดยผ่านเครือข่ายโยงใยอันกว้างใหญ่แห่งการดำรงค์อยู่ร่วมกันหรือการเป็นเงื่อนไขต่อกัน เมื่อมีเครือข่ายอันกว้างใหญ่แห่งการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกันนี้ เราจะพบว่าไม่มีธาตุแท้หรือตัวตนใดดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระลำพังตัวมันเองหรือของมันเอง นี่คือความเป็นจริงของความว่าง ในจักรวาลแห่งการพึ่งพิงและการตกเป็นเงื่อนไขของกันและกันนี้ จะไม่มีธาตุแท้หรือตัวตนใดๆ ที่เป็นอยู่อย่างเอกเทศ นี่รากฐานของพุทธยาน จากพื้นฐานทัศนคติอันนี้ ความคิดเชิงทวินิยมทั้งหลายที่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง "ทุกข์ของฉัน" หรือ "ทุกข์ของเขา" หรือระหว่างการช่วยเหลือตัวเองกับการช่วยเหลือผู้อื่นก็จะหมดไป

ดังนั้น ตลอดข้อเขียนชิ้นนี้ นอกจากจะมีเค้าโครงอริยสัจจ์สี่เป็นพื้นฐานแล้ว ก็จะมีหลักอิทัปปัจจยตาและสุญญตาควบคู่กันไปด้วย เพื่อมิให้พลาดท่าสูญเสียความหมายแห่งพุทธศาสนาที่แท้จริงไป

โปรดติดตามอริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยมต่อไปในตอน "การประการตัวทางสังคมของความทุกข์"

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจ
จูฬสุญญตสูตร

หนังสือที่น่าสนใจ
มีหลายเล่มให้เลือกดูในเว็บนี้

ไม่มีความคิดเห็น: