วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "พุทธยาน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์" ดังนี้

ข้าพเจ้าอยากวิเคราะห์อริยสัจจ์สี่แต่ละข้อสืบไป ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อวิสัยทัศน์แห่งธัมมิกสังคมนิยม ทว่าจะไม่ลงลึกในรายละเอียดของการวิเคราะห์สาเหตุด้านในของความทุกข์ แม้ว่าสิ่งนี้จะมีการกล่าวถึงอยู่เนืองๆ เพราะจุดมุ่งหมายของเราในที่นี้ คือ ๑) ทุกข์ของสังคม ๒) สาเหตุแห่งทุกข์ของสังคมหรือของส่วนรวม ๓) คือสิ่งที่รู้จักกันในนามธัมมิกสังคมนิยม ซึ่งเป็นที่ที่ความทุกข์ถูกกำจัดหรืออย่างน้อยก็ทำให้เหลือน้อยลง และ ๔) หนทางที่เราสามารถเดินไปด้วยกันเพื่อประจักษ์แจ้งต่อธัมมิกสังคมนิยม หรือสิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า "ธัมมิกสังคมนิยม" อย่างไรก็ตาม เครื่องมือพื้นฐานในการวิเคราะห์ก็ยังคงเป็นอันเดิมไม่ว่าในแง่มุมแห่งทุกข์จะถูกกล่าวถึงในแง่ไหน

เพื่อที่จะสำรวจเข้าไปในอริยสัจจ์ข้อแรกของสังคม ข้าพเจ้าอยากจะทบทวนรูปแบบบางด้านของความทุกข์ทางสังคมอย่างสั้นๆ โดยการสันนิษฐานว่าทุกคนที่นี่ต่างก็คุ้นเคยกับปัญหาเหล่านี้ แม้จะไม่ลึกลงไปในรายละเอียดมากนัก แต่อย่างน้อยเราก็ยังคงต้องสัมผัสถึงบางส่วนของความทุกข์ ก่อนที่จะเข้าไปสู่สาเหตุของมันเพราะการทำอย่างนี้ จะทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าการประกาศตัวแห่งความทุกข์ในหลายๆ ลักษณะนั้น มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างไร (อิทัปปัจจยตา)

ตลอดข้อเขียนชิ้นนี้ เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เราเรียกว่า "ปัญหาทางสังคม" นั้นไม่สามารถแยกออกจากสิ่งที่เรียกว่า "ทุกข์ส่วนบุคคล" อันเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความทุกข์ที่แสดงตัวอยู่ในตัวเราในฐานะปัจเจกชนซึ่งส่งเสริมและร่วมกันก่อปัญหาต่อสังคมส่วนรวมที่เราสังกัดอยู่ และในทางกลับกัน ก็จะเห็นว่าโครงสร้างทางสังคมที่แสดงตัวอยู่ในปัญหาของส่วนรวมนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเราในหลายๆ ทางอย่างไร ดังนั้นมันจึงส่งเสริมให้เกิดความทุกข์ภายในส่วนตัวบุคคล อย่างที่กำลังกัดกร่อนพวกเราอยู่ แม้ว่าเป้าหมายของข้อเขียนนี้จะพูดถึงความทุกข์พื้นฐานทางสังคม แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่หรือมีความสำคัญมากไปกว่า "ความทุกข์ของปัจเจกบุคคล"

ปัญหาที่โดดเด่นและกำลังระบาดอยู่ทั่วทั้งโลก คือ ลัทธิบริโภคนิยม อันเป็นชุดหนึ่งของปัญหาที่สามารถจัดกลุ่มอยู่ภายใต้หัวข้อปัญหาศีลธรรม วัฒนธรรมและคุณค่า เมื่อผู้คนไม่สามารถยืนอยู่บนปัญญาวัฒนธรรมและประสบการณ์ของตัวเขาเองได้อีกต่อไป แต่มัวไปแสวงหาความสุขและความพอใจในสิ่งที่เป็นวัตถุทีผลิตและโฆษณาโดยวัฒนธรรมแห่งการบริโภค สิ่งนี้จึงสร้างปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย เช่น การล่มสลายของชุมชน เป็นต้น เมื่อแต่ละครอบครัวต่างพุ่งเป้าเฉพาะไปที่ความสุขสบายส่วนตัวและความอยากได้ในสินค้ามากเท่าไร พวกเขาก็จะมีความปรารถนาในการให้เวลาและความพยายามที่จะดำรงไว้ซึ่งความรับผิดชอบและความผูกพันธ์ฉันท์มิตร ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงสนับสนุนความเป็นชุมชนน้อยลงเท่านั้น ดังนั้น เราจึงพบว่าการล่มสลายของชุมชนจะมาพร้อมๆ กับการแพร่ขยายของลัทธิบริโภคนิยมและลัทธิอุตสาหกรรม ความเสื่อมโทรมไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ หากยังดำเนินต่อไป จากระหว่างครอบครัวต่อครอบครัว ก็รุกรานเข้าไปสู่บุคคลที่อยู่ภายในครอบครัวเดียวกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ระดับของความเป็นปัจเจกเพิ่มสูงเกินไปจนหมกมุ่นครอบงำ ผู้คนดังกล่าวก็ไม่สามารถหล่อเลี้ยงความผูกพันภายในครอบครัวไว้ได้ หรือทำได้ก็แต่เพียงผิวเผินเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นในสังคมสมัยใหม่ปัจเจกชนทั้งหลายซึ่งตกหลุมพรางแห่งความเป็นปัจเจกสุดขั้ว (Hyper-individuality) กำลังทรมานกับความแปลกแยกที่เพิ่มมากขึ้นทุกที ซึ่งไม่เฉพาะกับครอบครัวหรือชุมชนเท่านั้น แต่แปลกแยกแม้กระทั่งร่างกายและความรู้สึกของตัวเอง

การบริโภคอย่างโอหังบังอาจที่คิดว่า เราสามารถเป็นเจ้าของหรือควบคุมธรรมชาติได้นั้น ทำให้พวกเราแปลกแยกจากโลกแห่งธรรมชาติ อันเป็นผืนโลกที่เราถือกำเนิดและเป็นโลกที่เราไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ ความแปลกแยกทางจิตใจ ทางอารมณ์และทางจิตวิญญาณนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างมหาศาล เช่น ปัญหามลพิษ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาการสาบสูญไปของสัตว์ป่าและผืนป่าที่ยังไม่ได้บุกเบิก ปัญหาประชากรล้นโลก ปัญหาความน่าเกลียดสกปรกของเมืองและชานเมือง ปัญหาการสูญเสียเผ่าพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังและเกี่ยวโยงกับปัญหาเหล่านี้ก็คือ โลกทัศน์ที่มองสรรพสิ่งเป็นแต่เพียงผลประโยชน์ชั่วแล่นหรือมองเห็นเฉพาะคุณค่าทางด้านวัตถุเท่านั้น และบ่อยครั้งที่จะเห็นเป็นแค่เม็ดเงิน อย่างเช่น เมื่อป่าไม้ถูกมองเห็นเป็นเพียงแผ่นกระดาษเป็นธนบัตร มนุษย์กลายเป็น "ผู้บริโภค" ซึ่งหมายถึง ต้องสอดคล้องกับอำนาจซื้อที่มีอยู่ อันเป็นรายได้มหาศาลที่ถูกขูดรีดเอาไป ด้วยกระบวนการลดทอนคุณค่าของมนุษย์เช่นนี้ เราจึงถูกทำให้แปลกแยกทางจิตวิญญาณซ้ำเข้าไปอีก ซึ่งเป็นปัญหาอันมหึมาที่แสดงตัวในรูปความล่มสลายของศาสนาและศีลธรรมในปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่พุทธศาสนา

ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ความไร้สมรรถภาพของการศึกษาในการบ่มเพาะศีลธรรมและคุณค่าทางศาสนธรรมให้แก่มนุษย์ ซึ่งปรากฏในรูปขยะความรุนแรงอันไร้ความยั้งคิดซึ่งขาดคุณค่าด้านมนุษยธรรมท่วมท้นอยู่เต็มไปหมดตามจอโทรทัศน์และสนามบิน การปราศจากความโปร่งใส ขาดความซื่อสัตย์ ขาดการตรวจสอบ และการไร้ความเป็นผู้นำทางการเมือง ผู้คนจำนวนหนึ่งที่ทำเงินก้อนมหาศาลจากตลาดการเงิน หากไม่ผลิตอะไรเลยพอที่จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แต่กลับดูดซับเอาทรัพยากรเป็นจำนวนมหาศาลโดยผ่านการเก็งกำไรจากการซื้อขายหุ้น การซื้อขายเงินตราล่วงหน้า พันธบัตร ราคาสินค้า และอีกหลายรูปแบบที่รู้จักกันในนามการลงทุน การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ของคนพื้นเมืองในหลายๆ พื้นที่ ความรุนแรงและความอยุติธรรมทางเพศ และอีกมากมายเหลือคณานับ

โปรดติดตามตอนต่อไป "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว"

ไม่มีความคิดเห็น: