วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความเกลียดชัง

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความเกลียดชัง (โทสะ)" ดังนี้

อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นด้านลบอีกตัวหนึ่ง ก็คือ ความเกลียดชัง ซึ่งเป็นความรู้สึกฝังลึกด้านในที่ไม่ชอบต่อบางสิ่งบางอย่าง หรือใครคนใดคนหนึ่ง หรือพวกใดพวกหนึ่ง โดยการยึดมั่นในตัวตนของเราและสันนิษฐานเอาว่าดี ซื่อสัตย์ สวยงาม ฯลฯ เราจึงเห็นสิ่งไม่ดีในบุคคลอื่น และสิ่งนี้ก็กลายเป็นความเกลียดชังในที่สุด รูปแบบทางโครงสร้างอันหนึ่งของความเกลียดชังก็คือ ลัทธิการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งกำลังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในหมู่คนรวยทางโลกตะวันตก นำมาสู่คำถามที่ว่าแท้ที่จริงแล้วในประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศที่ "พัฒนาแล้ว" อย่างที่กล่าวอ้างกันหรือไม่ ลัทธิแบ่งแยกสีผิวเปิดเผยตัวมันเองออกมาในอคติที่ระบาดอย่างรวดเร็วในการต่อต้านชาวมุสลิม ในความกลัวถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยประเทศแถบเอเชีย ในการขนถ่ายสารพิษไปปล่อยในแอฟริกาและในความเชื่อที่ว่ารัฐบาลทางตะวันตกมีความรู้ความเข้าใจที่ดีกว่าในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคพื้นโลกที่สาม

ลักษณะโครงสร้างของความเกลียดชังอีกด้านก็คือ การแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ เป็นสิ่งหนึ่งที่ตรึงแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและการปกครองแบบศักดินา ซึ่งไม่เพียงแต่มีลักษณะเทอะทะงุ่มง่ามอย่างเช่น นโยบายแบ่งแยกสีผิว และระบบวรรณะที่เห็นกันบางประเทศเท่านั้น หากมันมีอยู่ในทุกสังคม รวมทั้งในการปกครองตามลำดับชั้นจากบนลงล่างและสังคมอำนาจนิยมกึ่งเผด็จการในเอเชีย ลัทธิวรรณะนิยมได้สร้างความเกลียดชังและอคติในระหว่างกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาในสังคมปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันก็คือ ลัทธิการแบ่งแยกนิกายทางศาสนา โดยการแสดงตัวเข้ากับศาสนาหนึ่งใดหรือคณะหรือนิกายหนึ่งนิกายใดโดยเฉพาะ เราก็เลยไม่ถูกกันและหันมาเกลียดชังกันเองระหว่างกลุ่มหรือศาสนา นี่เป็นเพียงรูปแบบใหม่ของกิเลส อย่างเช่น เมื่อเรามีอคติและตัดสินเอาว่า ชนกลุ่มน้อยชาวพื้นเมืองนั้นไม่มีความเป็นมนุษย์ เพราะคนพวกนี้ป่าเถื่อนไร้อารยธรรมไม่เหมือนอย่างพวกเรา ดังนั้นเราจึงมีสิทธิ์ที่จะทำลายแหล่งน้ำ มีสิทธิ์ที่จะฉุดคร่าลูกชายลูกสาวของพวกเขามาเป็นโสเภณี และที่สุดเราก็ยังยัดเยียดความคิดความเชื่อต่างๆ ให้พวกเขาอีก ลักษณะอย่างนี้ยังมีอยู่ทั่วไปในสังคม ไม่เฉพาะ "พวกมีอำนาจ" หรือ "พวกมีการศึกษาน้อย" เท่านั้น

ประการสุดท้าย การเมืองชนิดผูกขาดก็เป็นอีกหน้าตาหนึ่งของโครงสร้างแห่งความเกลียดชัง ที่ใดก็ตามที่คนกลุ่มเล็กๆ ใช้อุบายกีดกันคนอื่นๆ ออกจากอำนาจ ออกจากสิทธิการตัดสินใจในแนวทางชีวิตที่เขาดำรงอยู่ ที่นั้นความรุนแรงความเกลียดชังก็เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ชัดว่า ไม่มีโครงสร้างใดที่กล่าวมานี้จะเป็นอิสระแยกอยู่ต่างหากจากกัน นี่คือโลกแห่งการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน และโครงสร้างอันหลากหลายของกิเลสและความเห็นแก่ตัวเหล่านี้ต่างก็ส่งเสริมหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน(ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

ไม่มีความคิดเห็น: