วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน พุทธยาน

จากตอนที่แล้วได้กล่าวถึง "เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่" ตอนต่อไปนี้จะกล่าวถึง "พุทธยาน"

พุทธยาน

ในทำนองเดียวกันเราก็ต้องหลีกเลี่ยงความอวดดีของ "มหายาน" และความคับแคบของ "หินยาน" ด้วย วิธีคิดอันคับแคบของหินยานที่สนใจเฉพาะเรื่องการหลุดพ้นเฉพาะตนเฉพาะปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องที่ไม่ใช่พระพุทธประสงค์อย่างแน่ชัด ถ้าใครศึกษาคัมภีร์บาลีในเถรวาท จะเห็นได้ชัดว่าพระพุทธองค์นั้นสนใจผูกพันกับความทุกข์ของสรรพสัตว์ รวมทั้งความทุกข์ของพระองค์เองและความทุกข์ของทุกคนที่แวดล้อมพระองค์ตั้งแต่วันที่พระองค์เสด็จออกผนวช อีกด้านหนึ่ง เราต้องหลีกเลี่ยงความอวดโอ่ในจุดยืนของฝ่ายที่เรารู้จักกันดีคือ "มหายาน" ที่คิดว่า "ฉันกำลังแก้ไขความทุกข์ให้ผู้อื่น" แทนที่จะทำอย่างนั้นข้าพเจ้าขอเสนอว่า เราควรทำตามมรรควิธีของพุทธยาน

พุทธยานไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่าง "ทุกข์ของฉัน" หรือ "ทุกข์ของท่าน" หรือ "ทุกข์ของพวกเขา" ทว่าพุทธยานค้นหาหนทางในการขจัดและดับทุกข์ที่ไหนก็ตามที่มันเกิดขึ้น พุทธยานไม่ได้อ้างว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาของผู้อื่น แต่พุทธยานนั้นปรารถนาที่จะรับใช้ เกื้อหนุน ส่งเสริมและช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อที่พวกเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาของพวกเขาเอง พุทธยานทำหน้าที่ในระดับที่เป็นเพื่อนร่วมงานและเป็นกัลยามิตร

ประการที่สอง พุทธยานดระหนักว่าเพื่อที่จะไปสู่ความสิ้นสุดทุกข์และแก้ปัญหาเหล่านี้ เราต้องจัดการกับสาเหตุรากเหง้าของมัน เราต้องสืบสวนอย่างลึกซึ้งรอบคอบ กระทั้งเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า อะไรคือสาเหตุรากเหง้าสำคัญแห่งทุกข์ทั้งภายในและภายนอก ทั้งปัญหาในระดับบุคคลส่วนตัวเราเองและปัญหาระดับสังคมส่วนรวม เราไม่สามารถหยุดอยู่แค่การวิเคราะห์ที่ผิวเผินซึ่งครอบงำพวกเราอยู่ ทั้งฝ่ายนักเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายปฏิบัติการจริงด้านศาสนา

ประการที่สาม พุทธยานวางอยู่บนความเคารพต่อพื้นฐานแห่งกฎอิทัปปัจจยตา (ความเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน) และสุญญตา (ความว่างจากตัวตน) อิทัปปัจจยตาคือความจริงที่ว่าธรรมะและปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงต่างก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของปรากฏการณ์อื่น และต่างก็เชื่อมต่อและสัมพันธ์กัน โดยผ่านเครือข่ายโยงใยอันกว้างใหญ่แห่งการดำรงค์อยู่ร่วมกันหรือการเป็นเงื่อนไขต่อกัน เมื่อมีเครือข่ายอันกว้างใหญ่แห่งการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกันนี้ เราจะพบว่าไม่มีธาตุแท้หรือตัวตนใดดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระลำพังตัวมันเองหรือของมันเอง นี่คือความเป็นจริงของความว่าง ในจักรวาลแห่งการพึ่งพิงและการตกเป็นเงื่อนไขของกันและกันนี้ จะไม่มีธาตุแท้หรือตัวตนใดๆ ที่เป็นอยู่อย่างเอกเทศ นี่รากฐานของพุทธยาน จากพื้นฐานทัศนคติอันนี้ ความคิดเชิงทวินิยมทั้งหลายที่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง "ทุกข์ของฉัน" หรือ "ทุกข์ของเขา" หรือระหว่างการช่วยเหลือตัวเองกับการช่วยเหลือผู้อื่นก็จะหมดไป

ดังนั้น ตลอดข้อเขียนชิ้นนี้ นอกจากจะมีเค้าโครงอริยสัจจ์สี่เป็นพื้นฐานแล้ว ก็จะมีหลักอิทัปปัจจยตาและสุญญตาควบคู่กันไปด้วย เพื่อมิให้พลาดท่าสูญเสียความหมายแห่งพุทธศาสนาที่แท้จริงไป

โปรดติดตามอริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยมต่อไปในตอน "การประการตัวทางสังคมของความทุกข์"

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจ
จูฬสุญญตสูตร

หนังสือที่น่าสนใจ
มีหลายเล่มให้เลือกดูในเว็บนี้

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่

เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่

เค้าโครงพื้นฐานของข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ในรูปของอริยสัจจ์สี่ เนื่องจากท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้ใช้อริยสัจจ์สี่เป็นเค้าโครงพื้นฐานในการแสดงความคิดของท่านอยู่เสมอ ดังนั้นข้าพเจ้าจะพยายามทำในสิ่งเดียวกัน การทำอย่างนี้เราจะได้รับประโยชน์หลายทางทีเดียว ประการแรก จะทำให้เราอยู่ในร่องในรอยและมุ่งตรงไปยังเป้าหมายของพระพุทธศาสนานั่นคือ การดับทุกข์ การตั้งเป้าไปยังหน้าที่พื้นฐานของพุทธศาสนา จะป้องกันเราจากการพลัดหลงไปสู่จุดประสงค์อื่นที่เป็นเรื่องรองออกไป ซึ่งมักเกิดขึ้นอยู่เสมอรวมทั้งในหมู่พวกเราเอง ซึ่งเป็นชาวพุทธที่ทำงานเพื่อสังคม (Engaged Buddhists) ประการที่สอง อริยสัจจ์สี่เป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นอย่างประณีตแยบคาย เพราะฉะนั้น การใช้วิธีนี้จึงทำให้เรามีพื้นฐานอยู่ในความคิด ประสบการณ์ และคำสอนของพระพุทธองค์โดยตรง มากไปกว่านั้น อริยสัจจ์สี่เป็นเค้าโครงที่สมบูรณ์ เข้าใจได้ง่าย และยังครอบคลุมแง่มุมที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ปัญหาหรือความจริงใดที่เราเผชิญหน้าอยู่ อย่างเช่น การค้นพบแห่ง ธัมมิกสังคม ที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่นี้ก็เช่นเดียวกัน อีกทั้งเป็นเค้าโครงที่ตั้งอยู่บนเหตุผล ซึ่งพวกเราสามารถคิดค้น สืบสวน และวิเคราะห์เข้าไปในรายละเอียดอันลึกซึ่งเท่าที่เราต้องการ และอริยสัจจ์สี่นั้นเป็นไปตามกฏเกณฑ์ ทนต่อการพิสูจน์ และยังมีรากเหง้าเดิมอยู่ในประสบการณ์ของมนุษย์ ประการสุดท้าย สรรพชีวิตทั้งหมดทั้งสิ้นต่างก็มีความทุกข์เสมอหน้ากันทั่วทั้งสากลจักรวาล

ถึงแม้พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำสอนอันนี้ ทว่าต่อพวกเราบางคนอาจจำเป็นที่จะต้องประเมินกันอีกครั้งหนึ่งว่า เราเข้าใจอริยสัจจ์สี่ในฐานที่เป็นวิธีการของพุทธศาสนาในการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ ในการทำอย่างนี้ท่านได้เขียนเสียใหม่และสรุปไว้เป็นสำนวนสั้นๆ ในรูปของคำถามเหล่านี้

ตัวปัญหาคืออะไร.....คืออะไร?

สาเหตุของมันคืออะไร.....จากอะไร?

เป้าหมายหรือความดับของมันคืออะไร.....เพื่ออะไร?

เราจะมีวิธีการไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างไร.....โดยวิธีใด?

อริยสัจจ์ข้อแรก ชี้ให้เราเห็นถึงปัญหา ว่ามีปัญหาซึ่งเรียกร้องให้เราอยู่ในฐานะเป็นหน้าที่ของมนุษย์และฐานะเป็นชาวพุทธที่ทำงานเพื่อสังคม ประการที่สอง ปัญหาแต่ละปัญหาเกิดขึ้นอย่างมีเหตุและเป็นปัจจัย หากเราต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป สิ่งนี้ก็ต้องมีการสำรวจสืบค้นและทำความเข้าใจกันต่อไป ประการที่สาม ที่สุดแล้วปัญหาเหล่านี้มีจุดจบ หมายถึง มีภาวะหรือความเป็นจริงซึ่งสามารถเข้าถึงในการทำให้ปัญหานั้นไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป บางครั้งท่านอาจารย์พุทธทาสพูดถึงสิ่งนี้ว่าเป็นเป้าหมายของปัญหา ตัวอย่างเช่น เป้าหมายของความทุกข์จะชี้ให้เราเห็นว่า ภาวะและความเป็นจริงแห่งความสิ้นทุกข์นั้นมีอยู่ นั่นคือ พระนิพพาน และประการที่สี่ คือ วิถีทางที่จะแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไป ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เราต้องปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในการถอดถอนปลดเปลื้อวสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งต่อจุดสิ้นสุดของปัญหา

แม้พวกเราซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเค้าโครงนี้ แต่ด้วยความเคยชินจึงเกิดการบิดเบือนขึ้น อย่างบางคนไปเจาะจงเป็นเฉพาะบุคคลมากเกินไป ขณะที่บางคนเห็นเป็นนามธรรมหรือครอบจักรวาลมากไป ในการตอบคำถามนี้ ข้าพเจ้ามีข้อเสนอแนะเล็กน้อยเพื่อช่วยให้พวกเราสามารถใช้เค้าโครงของอริยสัจจ์สี่อย่างถูกต้อง อย่างในพระสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าเป็น ความทุกข์ของฉัน หรือ ความทุกข์ของเขา แต่ตรัสว่า ความทุกข์นั้นมีอยู่ เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักในข้อเท็จจริงนี้และไม่เจาะจงเป็นตัวบุคคลมากเกินไป กระทั่งกลายเป็นเรื่อง ความทุกข์ของฉัน และ การกำจัด ความทุกข์ของฉัน พุทธศาสนิกชนหลายท่านตกอยู่ในหลุมพรางอันนี้ นี่คือเหตุผลพื้นฐานว่าทำไม เขาจึงไม่สนใจยุ่งเกี่ยวกับความทุกข์อันมากมายที่ห้อมล้อมเขาอยู่ทั้งโลก ข้อสังเกตอันนี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมหลายคนที่เรียกตัวเองว่า พุทธบริษัท จึงจมอยู่กับการปฏิบัติเฉพาะแต่ตัวเขาเอง โดยปราศจากการเข้าร่วมในความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของสังคม

ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมี ผู้ทำดี อยู่มากมาย พวกนี้ชุลมุนวุ่นวายอยู่กับการช่วยผู้อื่นในการกำจัดปัดเป่า ความทุกข์ของเขาทั้งหลาย เราจะพบคนเหล่านี้มากมายในโลกนักเคลื่อนไหวทางสังคม บ่อยครั้งที่เขาสนใจอยู่แต่ความทุกข์ของผู้อื่นมากเกินไป มากจนถึงระดับที่เขาลืมที่จะมองเข้าสู่ภายใน และเห็นความทุกข์ที่อยู่ภายในตัวเขาเอง ดังนั้นเราจึงต้องหลีกเลี่ยงหลุมพรางแห่ง ทุกข์ของท่าน หรือ ทุกข์ของพวกเขา ด้วย มิฉะนั้นเราจะสับสนหากเชื่อว่า ความทุกข์นั้นสามารถหยิบฉวยหรือแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ได้ เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงภาวะยุ่งยากสับสนทั้งสองฝ่ายดังกล่าว

ติดตามตอนต่อไป.....
พุทธยาน

เอกสารอ้างอิง: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล
Weblinks:
  1. อริยสัจจ์สี่ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ dhammajak.net
  2. อริยสัจจ์สี่ โดย องค์ดาไล ลามะ ตอนที่ 1/4 ตอนที่ 2/4 ตอนที่ 3/4 ตอนที่ 4/4

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน เนื้อเรื่อง

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ท่านอาจารย์สันติกโรภิกขุได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ภาค คือ
  1. ภาคต้น (ทุกข์ของสังคมและรากเหง้า)
  2. ภาคปลาย (ธัมมิกสังคมนิยมและการดับทุกข์)
ซึ่งก็คือท่านอาจารย์สันติกโรภิกขุได้ทำการแบ่งตามหลักอริยสัจจ์สี่นั่นเอง โดยในภาคต้นประกอบด้วยหมวดทุกข์และสมุทัย (ทุกข์ต้องกำหนดรู้และเหตุให้เกิดทุกข์ต้องละ) ส่วนในภาคปลายประกอบด้วยหมวดนิโรธและมรรค (ความดับทุกข์ต้องทำให้แจ้งและข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ต้องเจริญให้มากๆ)

ภาคต้น ท่านอาจารย์สันติกโรภิกขุได้แยกหัวข้อย่อยออกเป็น
  • เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่
  • พุทธยาน
  • การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์
  • โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว อันประกอบไปด้วย 1. ความโลภ (โลภะ) ทุนนิยม บริโภคนิยม 2. ความโกรธ (โกธะ) ลัทธิทหารและความอยุติธรรม 3. ความเกลียดชัง (โทสะ) ลัทธิเหยียดสีผิว ชนชั้นวรรณะ และลัทธิอภิสิทธิ์ชน 4. ความกำหนัด ทะเยอทะย่น (ราคะ) ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ 5. มายาคติด ความลุ่มหลง (โมหะ) การศึกษาและสื่อสารมวลชน 6. การแข่งขัน ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต 7. ความกลัว (ภยะ) เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา 8. ลัทธิอคติทางเพศ กิเลสทุกชนิด
  • ความซับซ้อนยุ่งยากแห่งลัทธิ
  • ความไม่รู้ (อวิชา) สาเหตุดั้งเดิมแห่งทุกข์
ภาคปลาย ท่านอาจารย์สันติกโรภิกขุได้แยกหัวข้อย่อยออกเป็น
  • โครงสร้างสังคมที่ประกอบด้วยธรรมะ
  • อริยมรรคทางสังคม 12 ประการ คือ 1. ศาสนาที่ถูกต้อง 2. การศึกษาที่ถูกต้อง 3. การนำที่ถูกต้อง 4. องค์กรและรัฐบาทที่ถูกต้อง 5. การสื่อสารที่ถูกต้อง 6. วัฒนธรรมที่ถูกต้อง 7. ความรู้สึกทางเพศ (กามารมณ์) และครอบครัวที่ถูกต้อง 8. เศรษฐกิจที่ถูกต้อง 9. นิเวศวิทยาที่ถูกต้อง 10. การละเล่นที่ถูกต้อง 11. การตรวจสอบการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง 12. สังฆะและความเป็นเอกภาพที่ถูกต้อง
  • ทรัพยากรมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
ตอนต่อไปจะดำเนินเรื่องในภาคต้น ตอนที่ 01

หนังสือเรื่องอริยสัจจ์สี่ที่เขียนโดยภิกษุต่างชาติมีหลายเล่ม แต่ที่พอหามาได้ มีที่นี่
หนังสือด้านพระพุทธศาสนาที่ได้วางตลาดในต่างประเทศ (โดยเฉพาะในอเมริกา) ลองดูได้ที่นี่

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม บทบรรณาธิการ

ในบรรดาผู้เรียกขานท่านพุทธทาสภิกขุว่า "ท่านอาจารย์" นั้น ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ว่า ท่านสันติกโรภิกขุมิใช่ผู้ทำงานหนัก ในการเผยแผ่คำสอนและสืบสานปณิธานของท่านพุทธทาสให้เป็นจริง และเป็นที่เข้าใจกันในวงกว้าง ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งโดยการแปลคำบรรยายจากแถบเสียงและหนังสือชุดธรรมโฆษณ์เป็นภาษาอังกฤษ การสอนและจัดอบรมอาณาปานสติแก่ชาวต่างชาติ (ในต่างประเทศ) การจัดทำ Website ของสวนโมกขพลารามและเผยแพร่ข้อมูลผ่านเครือข่าย Internet ตลอดจนการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่คฤหัสถ์และบรรพชิต ในด้านการประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรมอย่างสมสมัย ทั้งนี้ มิพักจะต้องกล่าวถึงการร่วมประชุมหรือการแลกเปลี่ยนทางวิชาการอันเนื่องด้วยคำสอนของท่านพุทธทาส และการเขียนบทความตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งท่านนี้กระทำอยู่อย่างสมำ่เสมอ ดังเป็นที่ยกย่องยอมรับของผู้ใฝ่ใจในศาสนธรรมอย่างมิได้เจือปนอคติตลอดมา

แต่ด้วยความที่ถือเอาธรรมเป็นใหญ่ อีกทั้งเป็นชาวอเมริกันซึ่งศรัทธาและเชื่อมั่นในเสรีภาพ มีความตรงไปตรงมาในการแสดงออก ชนิดที่กาย วาจา ตรงกับใจ จึงเป็นเหตุให้ท่านผู้นี้ เป็นที่แสลงใจของผู้คนอันมีสีลัพพตุปาทานและอัตตวาทุปาทานต่อท่านพุทธทาสและคำสอน ตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติและธรรมเนียมต่างๆ ในสวนโมกข์อยู่มิใช่น้อย ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปในสวนโมกข์และคณะสงฆ์ไทยอย่างถึงแก่น

ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ในบรรดาบุคคลที่ไม่เห็นพ้องกับท่านสันติกโรภิกขุเหล่านั้น หลายต่อหลายคนก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงในด้านมือถือสากปากถือศีลเอาเลยมิใช่หรือ? หากมักเป็นการนินทาว่าร้ายกันลับหลัง มิได้เปิดเผยตรงๆ ...หรือนี่จะเป็นปกติวิสัยของสังคมชนิดหน้าไหว้หลังหลอกไปเสียแล้ว? น่าเสียดายก็ที่สิ่งเหล่านี้มาเกิดขึ้นในแวดวงอันเคยใกล้ชิดกับท่านพุทธทาส (อันยังถือได้ว่าเป็นสดมภ์หลักท่านหนึ่งในฝ่ายเถรวาท) เท่านั้น

ที่กล่าวมายือยาวก็เพราะว่า ถึงที่สุดท่านสันติกโรภิกขุก็ไม่สามารถที่จะทนอยู่ปฏิบัติธรรมในท่ามกลางความไม่สัปปายะต่างๆ ได้อีกต่อไป ถึงกลับดำริที่จะต้องกลับไปทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมในประเทศอเมริกาในเร็ววัน ทั้งที่แต่เดิมตั้งใจจะวางรากฐานโครงการธรรมฑูตตามแนวคิดของท่านพุทธทาสที่เขตดอนเคี่ยมแห่งสวนโมกข์นานาชาติจนกว่าโครงการนั้นจะมั่นคง อย่างไม่มีกำหนดเวลา นี่นับว่าสังคมไทยต้องสูญเสียกัลยาณมิตรไปอีกท่านหนึ่งอย่างน่าน่าเสียดายนัก

กลุ่มพุทธทาสศึกษาคัดเลือกบทความเรื่อง "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม" ซึ่งจิรธัมม์แปลมาจาก "The Four Noble Truths of Dhammic Socialism" ของท่านสันติกโรภิกขุออกตีพิมพ์เผยแพร่ ด้วยเล็งเห็นว่า คนไทยน่าที่จะได้มีโอกาสอ่านผลงานของท่านผู้นี้อย่างแพร่หลายบ้าง โดยเฉพาะที่ไม่สามารถอ่านจากภาษาอังกฤษโดยตรง ซึ่งผู้เขียนมีผลงานแพร่หลายเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว

บทความชิ้นนี้แม้ว่ายังไม่สมบูรณ์อย่างถึงที่สุด แต่ก็เป็นพื้นฐ่นที่ดี ต่อการทำความเข้าใจเรื่องธัมมิกสังคมนิยม ทั้งผู้เริ่มต้นและผู้ที่ประสงค์ที่ศึกษาอย่างพิศดารต่อไป อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของผู้เขียนที่มีต่อหลักพุทธธรรม ตลอดจนคำสอนและแนวคิดของท่านพุทธทาสในด้านนี้ มิใช่สักแต่ว่าท่องบ่นวาจาของท่านพุทธทาสมากล่าวซ้ำ อย่างไม่ลืมหูลืมตา ดังที่มักกระทำกันโดยทั่วไป

สำหรับ "จิรธัมม์" ซึ่งเป็นผู้แปลแม้ว่าโดยชื่อออกจะใหม่อยู่บ้าง แต่การที่มีโอกาสใช้ชีวิตในชุมชนดอนเคี่ยม (สวนอตัมมยตาราม) ร่วมกับสันติกโรภิกขุและคณะสงฆ์นานาชาติอยู่ถึงสามปีเศษ ก็คงพอจะกล่าวได้ว่ามีความเข้าใจในชีวทัศน์และโลกทัศน์ของผู้เขียนอยู่ไม่น้อยทีเดียว

กลุ่มพุทธทาสศึกษาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม" เล่มนี้ จะเป็นอาหารทางความคิดที่มีคุณค่าและคุ้มค่าสำหรับท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังคงให้ความสนใจต่อแนวคิดธัมมิกสังคมนิยมได้ตามสมควร

บรรณาธิการ
ปลายพรรษา พุทธศักราข ๒๕๔๒

ข้อความข้างต้นเป็นบทบรรณาธิการโดยกลุ่มพุทธทาสศึกษา ที่ได้กล่าวเกริ่นเกี่ยวกับผู้เขียน ผู้แปล และเนื้อหาของหนังสืออย่างย่อ ... ตอนต่อไปจะได้เข้าเรื่องเสียที...

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ธัมมิกสังคมนิยม ตอน เกริ่นเรื่อง

ห่างหายจากบล็อคไปนานทีเดียวด้วยฝุ่นการเมืองและความขัดแย้งในสังคมไทยได้ก่อเกิด แต่เป็นสิ่งดีด้วยจะเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดีขึ้น ครานี้จึงปรารถนาจะช่วยเสริมพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีเท่าที่จะสามารถกระทำได้ จึงเห็นว่าบล็อคนี้จะเป็นแห่งที่และหนทางหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นและให้ความรู้ที่พอหาได้แก่สังคม
แล้วแอบไปเห็นหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง (ในไม่กี่เล่มที่อ่านจบ) เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ลองเสาะหาในอินเตอร์เนตก็มีเรื่องราวนี้อยู่น้อยมาก จึงตั้งใจจะเอามาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมบนอินเตอร์เนต หนังสือนี้ชื่อว่า "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม" ซึ่งเขียนโดย พระอาจารย์สันติกโรภิกขุ (เป็นภาษาอังกฤษ) และแปลโดย ท่านจิรธัมม์ พระอาจารย์สันติกโรภิกขุได้เขียนเรื่องนี้ในลักษณะขยายความ วิเคราะห์ด้วยหลักอริยสัจจ์สี่และแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมจากหนังสือที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรื่อง "ธัมมิกสังคมนิยม" อันเป็นแนวทางหนึ่งที่สังคมไทยน่าที่จะยิบยกขึ้นพิจารณาเพื่อจะได้ตระหนักและตระหนกต่อความทุกข์ของตนและของสังคมที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังขยายวงพัฒนาออกไปอย่างไร้การควบคุม ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรแล้วสภาวสังคมที่เป็นสุขสามารถคาดหวังได้มากน้อยแค่ไหนแล้วจะทำกันอย่างไรเราจึงจะได้มา
ด้วยเห็นว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและต้องการจะเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ จึงต้องอนุญาตจากพระอาจารย์สันติกโรภิกขุไว้ในที่นี้ด้วย ประโยชน์อันใดที่เกิดขึ้น กุศลอันใดที่ปรากฎขอให้ตกแด่พระอาจารย์สันติกโรภิกขุและคณะที่ได้จัดทำหนังสือเล่มนี้
ท่านพุทธทาสได้เขียนบันทึกบางส่วนเกี่ยว "ธัมมิกสังคมนิยม (แท้จริง)" ด้วยลายมือไว้ดังนี้
0 ครอบงำสิ่งมีชีวิตทุกระดับ (มนุษย์ - สัตว์ - พืช)
0 วัฒนธรรมทางจิตสูงสุดเมือมนุษย์รู้สึกว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดเป็นเพื่อน เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แก่กันและกัน
0 ธัมมิกสังคมนิยม ต้องมีเพราะธรรมขาติสร้างสิ่งมีชีวิตมาสำหรับอยู่กันเป็นหมู่
0 การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นองค์ประกอบแงค์หนึ่งของความอยู่รอดของสังคมสัตว์
0 ธัมมิกสังคมนิยม มีเพราะการทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนา (เพียง ๒ ศาสนา) อย่างเพียงพอ
0 ถ้าคาร์ลมาร์กรู้พุทธศาสนา ก็จะไม่พูดว่า ศาสนาเป็นยาเสพติด เพราะมันเป็นเพียงบางศาสนาเท่านั้น
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2542 ท่านอาจหาซื้อได้จากร้านขายหนังสือทั่วไป เช่น ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร้านซีเอ็ดฯ ร้านนายอินทร์ ธรรมสภา หรือที่สวนโมกขพลารามจังหวัดสุราษฎร์ฯ เป็นต้น
ตอนต่อไปจะเริ่มดำเนินเรื่องตามหนังสือ "อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม"