วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความซับซ้อนยุ่งยากแห่งลัทธิ

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ลัทธิอคติทางเพศ : กิเลสทุกชนิด" ลำดับต่อไปท่านจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความซับซ้อนยุ่งยากแห่งลัทธิ" ดังนี้

ที่ผ่านมาเราได้กล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐานของความเห็นแก่ตัวกันมาแล้ว แม้รายชื่อเหล่านั้นไม่สมบูรณ์นัก แต่มันก็แสดงให้เห็นแนวทางของเราระดับหนึ่ง และเราควรเห็นอย่างแจ่มชัดอีกว่าด้านหนึ่งของโครงสร้างเหล่านี้ฝังรากอยู่ในกิเลสส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นความโลภ โกรธ เกลียด ความอวดดี การแข่งขัน ความลุ่มหลงมัวเมา ความกลัว ความกังวล ความเหนื่อยหน่าย ความน่าตื่นเต้น และอีกมากมายที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคล และในขณะเดียวกันโครงสร้างอันแข็งแกร่งแห่งกิเลสและความเห็นแก่ตัวนี้ มันก็ส่งผลสะเทือนมาสู่เราในฐานะปัจเจกบุคคลอย่างรุนแรงใหญ่หลวง มันทำให้ความโลภมากอยากได้ ความโกรธและขลาดกลัวเกิดง่ายยิ่งขึ้นในตัวเรา ซึ่งอาจพูดได้ว่า อนุสัย (ความเคยชินของกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน) ก็มีในสันดานของสังคมอย่างเต็มที่ ระหว่างโครงสร้างความเห็นแก่ตัวที่อยู่ในพวกเรากับโครงสร้างกิเลสและความเห็นแก่ตัวที่ถูกสร้างขึ้นในสังคม มันมีปฏิสัมพันธ์มีพลวัตและอิงอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อกัน นี้เป็นหนทางหนึ่งที่เราสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุแห่งทุกข์ทางสังคมได้ และแนวทางนี้ไม่ได้ปฏิเสธประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชาย และด้านนิเวศวิทยาแต่อย่างใด หากเราเพียงแต่พยายามมองปัญหาเหล่านี้ด้วยเป้าหมายทางจิตวิญญาณและศีลธรรมเท่านั้น ต่อไปเราอาจเชื่อมโยงแนวทางนี้ด้วยการวิเคราะห์อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ขบวนการสิทธิสตรี มานุษยวิทยาและอื่นๆ ซึ่งคงประกอบด้วยวิธีการและรายละเอียดอีกมาก

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความไม่รู้ (อวิชชา) :สาเหตุดั้งเดิมแห่งทุกข์" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อ ให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วย ลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ลัทธิอคติทางเพศ

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความกลัว (ภยะ) : เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ลัทธิอคติทางเพศ : กิเลสทุกชนิด" ดังนี้

เราได้เห็นกันอยู่เสมอแล้วว่า โครงสร้างทางสังคมได้เกื้อหนุนให้เกิดกิเลสอันมากมายชนิดไม่ซ้ำหน้ากันอย่างไร ในแต่ละกรณีจะมีตัวกิเลสที่เด่นชัดเป็นแม่บท แต่รากเหง้าแห่งทุกข์ทางสังคมบางลักษณะก็ยากต่อการจัดเข้าในลำดับแห่งกิเลส เช่น อคติทางเพศ และระบบผู้ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ถ้าเราดูอย่างผิวเผิน โดยเฉพาะพวกผู้ชาย เรื่องทางเพศดูเหมือนจะมีรากลึกอยู่ในความกำหนัดราคะ ขณะที่ราคะกำหนัดนั้นมีบทบาทในเรื่องทางเพศและระบบผู้ชายเป็นใหญ่อย่างไร้ข้อสงสัยใดๆ แต่การพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยให้น้ำหนักไปที่ความกลัวอาจทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้นบ้าง อย่างเช่น การกลัวผู้หญิง กลัวธรรมชาติ กลัวความรู้สึก กลัวความไม่รู้ กลัวต่อสัจจะความจริง

ระบบผู้ชายเป็นใหญ่เป็นระบบพื้นฐานที่นำไปสู่การจัดโครงสร้างทางอำนาจตามลำดับขั้นเพื่อควบคุมสิ่งที่ตนกลัว ระบบนี้มาพร้อมๆ กับไสยศาสตร์ ในการจะพิสูจน์อันไหนมาก่อนหลังก็ยังเป็นเรื่องยากแก่การสืบค้น เพราะเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์มาก ข้าพเจ้าเชื่อว่าพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดลัทธือคติทางเพศ อยู่ที่โครงสร้างแห่งความกลัวนี่เอง เพราะเมื่อเรากลัวเราก็ดิ้นรนที่จะควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิธีคิดแบบผู้ชาย ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ความรู้สึกภายในประกอบไปด้วยวิธีคิดที่ยึดเอาผู้ชายเป็นใหญ่ คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ควบคุมผู้หญิงเท่านั้น หากยังควบคุมภาวะความเป็นหญิงในตัวเองอีกด้วย โดยการกดข่มมันไว้หรือไม่ก็รีดหาประโยชน์จากมัน เรายังข่มกลั้นบางสิ่งบางอย่างที่โดยตามประเพณีแล้วเกี่ยวเนื่องกับภาวะความเป็นผู้หญิงเอาไว้ด้วย อย่างเช่น ธรรมชาติ ความรู้สึก สัญชาตญาณ บ้านเรือน หรือแม้แต่เด็กๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ชายรู้สึกกลัว ความเกลียดชังในบางส่วนก็อาจผสมปนเปอยู่กับความกลัว นั่นตือ ความเกลียดร่างกายตัวเอง เกลียดกามารมณ์ เกลียดสิ่งที่ต่างออกไป เกลียดสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ประการสุดท้ายคือ ราคะกำหนัด ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชายหลายคนไม่สามารถควบคุมความต้องการทางเพศของเขาเองได้ก็มีบทบาทสำคัญอยู่ไม่น้อย การไร้สมรรถภาพในการควบคุมความต้องการทางเพศของผู้หญิงเองก็มีส่วนด้วยเช่นกัน (แต่น้อยกว่าผู้ชาย)

อย่างที่ท่านมารุยาม่า ได้ตั้งข้อสังเกตไว้บางแห่งในงานของท่านว่า การรวมตัวกันขึ้นของระบบผู้ชายเป็นใหญ่ ลัทธิอคตืทางเพศ และการล่มสลายของสถาบันครอบครัว นับเป็นมะเร็งร้ายสมัยใหม่ที่ร้ายกาจอย่างที่สุด ข้าพเจ้าอยากเพิ่มเติมว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกจากความรู้สึกอันทุพพลภาพในเรื่องทางเพศทั้งในอดีตและปัจจุบันแห่ง "อารยธรรมตะวันตก" ได้ ขณะเดียวกันความรู้สึกทางเพศที่ไม่สมบูรณ์นี้ก็แยกออกจากลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมไม่ได้เช่นกัน ผลของมันน่าสะพรึงกลัวทีเดียวหากภรรยาและลูกๆ ถูกปฏิบัติเหมือนกับเป็นทรัพย์สมบัติหรือเครื่องมือชิ้นหนึ่ง ที่มีไว้สนองความเพลินเพลินความพอใจของผู้เป็นสามี

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความซับซ้อนยุ่งยากแห่งลัทธิ" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อ ให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วย ลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความกลัว (ภยะ)

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความกลัว (ภยะ) : เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา" ดังนี้

กิเลสที่สยายปีกอยู่ทุกวงการอีกตัวหนึ่ง ก็คือ "ความกลัว" ทุกวันนี้ความกลัวกลายเป็นโครงสร้างอันยิ่งใหญ่ในวงการทางการแพทย์ ซึ่งไม่ค่อยพยายามที่จะป้องกันบำบัดความป่วยไข้ ตรงกันข้ามกลับพยายามทำลายเวชศาสตร์ท้องถิ่นที่เคยช่วยชาวบ้านในการป้องกันโรค(ดูเชิงอรรถ ๑๒) กลายเป็นว่าเราได้สร้างระบบที่เพิ่มความกลัวและความกังวลให้มากขึ้น ซึ่งเพิ่มโรคภัยไข้เจ็บขึ้นอีกตามสัดส่วน ในทางเดียวกันก็เปิดช่องให้การแพทย์กับทุนนิยมจับมือไปด้วยกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย อุตสาหกรรมทางการแพทย์อันเป็นสถาบันทางสังคมอันทรงพลังนี้ได่ส่งเสริมสนับสนุนและหากินอยู่กับความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวตาย กลัวความป่วยไข้ ความแก่ ความหย่อนยาน กลัวน้ำหนักเกินฯลฯ แน่นอนที่สุดอุตสาหกรรมทางการแพทย์อาจช่วยเราแก้ปัญหาอันนี้ได้โดยเราต้องจ่ายราคาค่างวดเป็นตัวเงิน แต่เราไม่เพียงต้องจ่ายแค่นั้นเท่านั้น เพราะสุขภาพของเรากลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งไปเสียแล้ว สิ่งทั้งหลายที่ไม่เคยเป็นปัญหาจริงๆ อย่างเช่น ความเหี่ยวย่นหย่อนยาน การอ้วนขึ้นเล็กน้อย ศีรษะเริ่มล้าน เต้านมเล็กเกินไป (แม้แต่ทารกยังไม่บ่นเลย) เรื่องเหล่านี้ถูกทำให้เป็นปัญหา โดยความกลัวที่โหมประโคมขึ้นโดยสถาบัน (Institutionalized Fear) หรือสิ่งที่ปัญญาชนอย่าง ไอวาน อิงลิช พูดถึงมันว่าเป็น "กระบวนการทำให้คนในสังคมเชื่อว่าตัวเองเป็นโรค" (ดูเชิงอรรถ ๑๓) อุตสาหกรรมด้านการประกันภัย ก็เลยรับช่วงต่อเล่นบทบาทส่งเสริมตรงจุดนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเข้ามาตอกย้ำความกลัวซ้ำแล้วซ้ำอีก ภายใต้ข้ออ้างว่าช่วยบรรเทาความกลัวให้น้อยลง และเราก็ต้องควักกระเป๋าซื้อกรมธรรม์อีกเช่นเคย ความมั่นคงปลอดภัยก็เลยกลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่ง

ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของความกลัวเชิงโครงสร้างจะพบเห็นบ่อยๆ ในศาสนา ซึ่งไม่ใช่ศาสนาที่แท้หากเป็นแต่เพียงชื่อว่าศาสนาเท่านั้น เพราะแทนที่จะเป็นการสละตนอย่างแท้จริงต่อสิ่งที่สูงกว่าเราและทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า "เป็นหัวใจของศาสนา" แต่กลับพบว่าศาสนาเหล่านั้นเต็มไปด้วยพิธีกรรม ความเชื่ออันเหลวไหลและเป็นไสยศาสตร์ซึ่งบูชาความกลัวเข้าไปอีก แทนที่จะช่วยให้พวกเราเป็นอิสระและเอาชนะความกลัวตาย ความกลัวต่อการสูญเสียของรัก กลัวเจ็บปวด กลัวการจากพราก และอื่นๆ ระบบศาสนาทั้งหลายกลับใช้ความกลัวของเราเป็นเครื่องมือสนับสนุนสถาบันตัวเอง เป็นตัวทำเงินและที่คอยหยิบยื่นความสุขสบายให้แก่นักบวช เจ้าหน้าที่ และพระเณร

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ลัทธิอคติทางเพศ : กิเลสทุกชนิด" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อ ให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วย ลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้
เชิงอรรถ
๑๒ - สำหรับตัวอย่างในประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ ของสมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา (AMA) เงินจำนวนมหาศาลได้หลั่งไหลเข้าสู่ความพยายามเพื่อวิ่งเต้นในการทำลายเวชกรรมทางธรรมชาติ เป้าหมายเพื่อการผูกขาดแก่สมาชิก AMA นั่นเอง ในประเทศสยามบรรษัทผลิตยาข้ามชาติประสบความสำเร็จในการวิ่งเต้นให้รัฐบาลสั่งห้ามการใช้ยาสมุนไพร (โชคยังดี ที่มีหมอที่เห็นคุณค่าของสมุนไพรและคำสั่งนี้ได้ถูกยกเลิกไป)
๑๓ - หมายถึง การทำให้คนคุ้นเคยกับการคิดว่าตัวเองเป็นโรคนั้นโรคนี้ มากกว่าที่จะสนใจว่าสุขภาพอนามัยที่ถูกต้องเป็นอย่างไร Medical Nemesis : the Expropriation of Health (แพทย์เทพเจ้ากาลี น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ แปล) Random House, New York, 1976

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน การแข่งขัน

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ยาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" ดังนี้

อีกหน้าตาหนึ่งที่สำคัญของมายาคติหรือโมหาคติในระบบเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมก็คือ "การแข่งขัน" ซึ่งมีรากเหง้ามาจากกิเลสตัวสำคัญคือ ความถือตัวอวดดี (มานะ) เพราะเมื่อมี "ตัวตน" ก็ต้องมี "ผู้อื่น" แล้วเราก็เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ในแง่ของความ "ดีกว่า" "เลวกว่า" หรือไม่ก็ "เท่าเทียมกัน" ด้วยวิธีการเปรียบเทียบอย่างนี้ เราก็สร้างตัวตนที่อยู่ในฐานะผู้แข่งขันขึ้นมา บางครั้งก็เลยไปถึงเป็นศัตรูต่อกัน ดังนั้น การแข่งขันจึงเป็นที่ยกย่องบูชากันในวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ ในลัทธิแห่งตลาด ในความเชื่อที่เรามีเกี่ยวกับรัฐชาติ และในการแสวงหาความตื่นเต้นของเรา ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เราจึงเห็นการแข่งขันเป็นสิ่งจำเป็นในการมีชีวิตอยู่ เพราะความเชื่อในการแข่งขันทำให้เราสูญเสียความสามารถในการมองดูผู้อื่นเป็นอย่างพี่ชายน้องสาว เป็นมิตรสหายร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือมองในฐานะเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความกลัว (ภยะ) : เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อ ให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วย ลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน มายาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ)

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "มยาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" ดังนี้

ความลุ่มหลงมายาคติ คือ การเห็นสรรพสิ่งผิดไปจากที่มันเป็นอยู่ และไม่สามารถมองเห็นตามที่เป็นจริง นั่นคือ การทำสิ่งชั่วร้ายโดยเห็นแก่ประโยชน์ และการแสวงหาผลประโยชน์ผิดๆ ในทางที่ชั่วร้าย ปัจจุบันนี้ โมหะกลายเป็นสิ่งที่เชิดชูบูชากันในระบบการศึกษา ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเรียกว่า "การศึกษาหมาหางด้วน"(คำแปล หมาหางด้วน) "เรียนแต่หนังสือกับอาชีพไม่ได้เรียนธัมมะธัมโมอะไรสำหรับความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เรียนสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์" เท่าที่ข้าพเจ้าทราบแทบไม่มีที่ไหนเลยที่การศึกษาในกระแสหลักจะสนับสนุนให้มนุษย์ได้พบกับความอุดมแห่งปัญญา ไม่มีที่ไหนเลยที่ช่วยให้เด็กผู้ใหญ่หรือแม้แต่พลเมืองอาวุโสได้เผชิญหน้าและเข้าสู่คำถามที่สำคัญในชีวิต ทว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับคำถามเชิงปรนัยที่มีคำตอบให้เลือก แล้วเราก็เลือกคำตอบที่ไร้สาระที่สุด แทนที่จะหาคำตอบที่จริงแท้ด้วยคำถามอันเต็มไปด้วยสติปัญญา

ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นภายในโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือในมหาวิทยาลัย อาจจะมีการแสวงหาที่จริงจังซื่อสัตย์อยู่บ้างในโรงเรียนเหล่านั้น แต่นั่นก็เป็นเพียงกรณียกเว้นซึ่งอยู่นอกเหนือเกณฑ์คาดหมาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัญญาไม่ได้เป็นเป้าหมายของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ หากระบบการศึกษาของเราโดยทั่วไปมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัย เพื่อทำให้เราเข้าไปสู่ลัทธิดังที่เราวิเคราะห์กันในข้อเขียนนี้ นั่นคือ ทุนนิยม บริโภคนิยม ปัจเจกชนนิยม ลัทธิทางชนชั้น ลัทธิแบ่งแยกสีผิว ลัทธินิยมทหารและอื่นๆ ยาขนานเอกแห่งความกลัวทำให้เราอยู่ในกรอบในแถวได้ชงัดนัก การศึกษาประสบผลสำเร็จในระดับที่สามารถทำให้ผู้คนเต็มไจที่จะรับใช้โครงสร้างสังคมดังที่กล่าวมาแล้วนี้ มีน้อยนักที่จะสืบค้นเข้าไปในความจริงแห่งโครงสร้างเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์และเปิดใจกว้าง เราควรจะเรียกสิ่งนี้ว่า "โครงสร้างแห่งมิจฉาศึกษา" ไม่ดีกว่าหรือ? ช่างน่าสงสารเหลือเกินเมื่อสุนัขไม่มีแม้แต่หางที่จะแกว่ง

โมหะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในวงการสื่อสารภายใต้เสื้อคลุมแห่งข่าวสารข้อมูล ในความเป็นจริงแล้วเราต่างก็ถูกท่วมทับด้วยข้อมูลเสมือนจริงอยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยได้รับรายละเอียดอันเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากข้อมูลที่ผิวเผินฉาบฉวยเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดภาพที่น่าตื้นเต้นเพื่อกระตุ้นยั่วยุ เพื่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ เร่งเร้า และที่สุดก็ทำให้เราไขว้เขวออกจากความเป็นจริง ไม่เคยมีข้อมูลที่เป็นจริงเลยในช่วงสามปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยตกเป็นทาสรับใช้อย่างเต็มใจให้กับการยักยอกผลประโยชน์กันในรัฐบาล กองทัพ และธุรกิจที่จับมือกับพวกอิทธิพลมืด เพื่อทำลายชื่อเสียงของพระนักอนุรักษ์ที่ดีที่สุดของเรา ๒ รูป คือ พระพงษ์ศักดิ์ เตชธัมโม และ พระประจักษ์ คุตตจิตโต ท่านทั้งสองรูปถูกบังคับให้ลาสิกขาเนื่องจากการคอร์รัปชั่นระบาดเข้ามาถึงคณะสงฆ์ เป็นเรื่องจริงเหลือเกินที่หนังสือพิมพ์เมืองไทยกำลังทำลายพุทธศาสนากันอย่างจริงจัง เราได้รับการประเล้าประโลมด้วยภาพอันน่าตื่นตาของการโฆษณาทางการเมือง ซึ่งสนับสนุนให้เกิดมายาคติอันทำให้เห็นไปว่านักการเมืองกลุ่มเดียวเท่านั้นที่อยู่ในอำนาจ สื่อมวลชนไม่เคยเปิดเผยต่อเราเลยว่าใครเป็นคนควบคุมสิ่งที่เรากำลังอ่านกำลังเห็นกันอยู่ หรือใครที่อยู่หลังฉากคอยควบคุมนักการเมืองอีกทีหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการตั้งคำถามหรือได้รับการตีแผ่ออกมา

ดังนั้นในระบบสื่อมวลชนและมิจฉาศึกษาเหล่านี้ เราจึงพบว่าโมหะคติหวนกลับเข้าไปสู่โครงสร้างทางสังคมอย่างไร การรวมมือกันของสองสิ่งนี้เราจะได้เห็นกิเลสสองตัวคือ ความเบื่อหน่ายและความตื้นเต้นทำงานอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะในฝ่ายสื่อสารมวลชนที่เป็นตัวสนับสนุนความตื่นตาตื่นใจ ความไขว้เขวสับสนและความโกหกหลอกลวง

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วยลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความเกลียดชัง (โทสะ) : ลัทธิเหยียดสีผิว ชนชั้นวรรณะ และลัทธิอภิสิทธิ์ชน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" ดังนี้

ทีนี้หันมาดูเรื่องราคะกันบ้าง กิเลสตัวนี้ในเชิงโครงสร้างแล้วเราพากันยกย่องบูชามันไว้ในอุตสาหกรรมด้านการบันเทิง ธุรกิจภาพยนตร์จะขายไม่ดีนัก หากไม่มีการยั่วยุกระตุ้นราคะและกามารมณ์ กิจการด้านโทรทัศน์เติบโตพร้อมๆ กับมีเรื่องทางเพศเข้ามาพัวพันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรื่องราวลามกต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น "ความบันเทิงของผู้ชาย" ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหกรรมด้านโฆษณาก็ใช้ภาพลักษณ์ทางเพศมาเป็นสื่อในการขายสินค้าอันไม่จำเป็นสำหรับพวกเรา เราซื้อยาสีฟันเพียงเพราะว่ามันทำให้เรารู้สึกเป็นที่ดึงดูดใจของเพศตรงข้าม ผู้หญิงต้องซื้อยกทรง น้ำหอม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพียงเพื่อที่จะทำให้มีเสน่ห์ดึงดูดใจทางเพศ รถยนต์ทำให้ผู้ชายรู้สึกภูมิฐานกล้าแกร่งเป็นต้น

ในโลกแห่งอุตสาหกรรม ราคะเป็นอะไรมากไปกว่าองค์ประกอบธรรมดาๆ ที่อยู่ในระบบ อย่างในแง่ของอุตสาหกรรมทางเพศแล้วมันเป็นตัวระบบเสียเอง เราเห็นกันได้ชัดในประเทศสยาม คุณจะพบเห็นได้ไม่ว่าที่ไหนที่มีนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือแม้แต่ฐานทัพทหาร อุตสาหกรรมแห่งราคะนี้ผูกพันกันอย่างแยกไม่ออกกับกองทัพ ระบบทุนนิยม และลัทธิแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ นั่นเพราะว่าจะมีเด็กหญิงหรือเด็กชายที่มีฐานะดีจำนวนน้อยมากที่หันมาขายบริการทางเพศมาเป็นเด็กในคลับในบาร์ มาเดินแบบแฟชั่น หรือเป็นพนักงานรับรองในโรงแรม ใน "อุตสาหกรรม" ทั้งหลายเหล่านี้ ราคะซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของมนุษย์ก็ถูกกระตุ้นเพาะพันธุ์และเผยแพร่ออกไปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร มันคือธุรกิจทางเพศ เรื่องเพศคือเรื่องอำนาจ สงครามคืออาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้ชาย จำเป็นที่จะต้องมีอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้หญิงมาสนองตอบ เพื่อทำให้ไอ้หนุ่มทหารใหม่กระฉับกระเฉงและพร้อมที่จะตายเพื่อประเทศชาติ กำหนัดราคะอันเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติ เมื่อขาดการฝึกฝนทางจิตวิญาณที่สามารถจำกัดช่องทางต่อพลังงานอันมีอำนาจมหาศาลอันนี้แล้ว ก็จะถูกบิดเบือนและผสมปนเปจนกลายเป็นเรื่องเสียหายทำลายล้าง มากกว่าที่จะเป็นความสร้างสรรค์ใดๆ โดยข้อเท็จจริงแล้ว อุตสาหกรรมแห่งกำหนัดราคะทั้งหมดนี้ เป็นตัวทำให้มวลชนมัวเมาพึงพอใจกับสถานะที่ไร้ศักดิ์ศรีและไม่มีอนาคต สลับกับการกระตุ้นเร่งเร้าและการตอบสนองต่อความใคร่ความพอใจทางสัญชาตญาณและอารมณ์ จนผู้คนเหล่านี้ไม่สามารถคิดหรือตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่กำลังเป็นไป

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "มายาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความเกลียดชัง

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความเกลียดชัง (โทสะ)" ดังนี้

อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นด้านลบอีกตัวหนึ่ง ก็คือ ความเกลียดชัง ซึ่งเป็นความรู้สึกฝังลึกด้านในที่ไม่ชอบต่อบางสิ่งบางอย่าง หรือใครคนใดคนหนึ่ง หรือพวกใดพวกหนึ่ง โดยการยึดมั่นในตัวตนของเราและสันนิษฐานเอาว่าดี ซื่อสัตย์ สวยงาม ฯลฯ เราจึงเห็นสิ่งไม่ดีในบุคคลอื่น และสิ่งนี้ก็กลายเป็นความเกลียดชังในที่สุด รูปแบบทางโครงสร้างอันหนึ่งของความเกลียดชังก็คือ ลัทธิการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งกำลังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในหมู่คนรวยทางโลกตะวันตก นำมาสู่คำถามที่ว่าแท้ที่จริงแล้วในประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศที่ "พัฒนาแล้ว" อย่างที่กล่าวอ้างกันหรือไม่ ลัทธิแบ่งแยกสีผิวเปิดเผยตัวมันเองออกมาในอคติที่ระบาดอย่างรวดเร็วในการต่อต้านชาวมุสลิม ในความกลัวถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยประเทศแถบเอเชีย ในการขนถ่ายสารพิษไปปล่อยในแอฟริกาและในความเชื่อที่ว่ารัฐบาลทางตะวันตกมีความรู้ความเข้าใจที่ดีกว่าในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคพื้นโลกที่สาม

ลักษณะโครงสร้างของความเกลียดชังอีกด้านก็คือ การแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ เป็นสิ่งหนึ่งที่ตรึงแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและการปกครองแบบศักดินา ซึ่งไม่เพียงแต่มีลักษณะเทอะทะงุ่มง่ามอย่างเช่น นโยบายแบ่งแยกสีผิว และระบบวรรณะที่เห็นกันบางประเทศเท่านั้น หากมันมีอยู่ในทุกสังคม รวมทั้งในการปกครองตามลำดับชั้นจากบนลงล่างและสังคมอำนาจนิยมกึ่งเผด็จการในเอเชีย ลัทธิวรรณะนิยมได้สร้างความเกลียดชังและอคติในระหว่างกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาในสังคมปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันก็คือ ลัทธิการแบ่งแยกนิกายทางศาสนา โดยการแสดงตัวเข้ากับศาสนาหนึ่งใดหรือคณะหรือนิกายหนึ่งนิกายใดโดยเฉพาะ เราก็เลยไม่ถูกกันและหันมาเกลียดชังกันเองระหว่างกลุ่มหรือศาสนา นี่เป็นเพียงรูปแบบใหม่ของกิเลส อย่างเช่น เมื่อเรามีอคติและตัดสินเอาว่า ชนกลุ่มน้อยชาวพื้นเมืองนั้นไม่มีความเป็นมนุษย์ เพราะคนพวกนี้ป่าเถื่อนไร้อารยธรรมไม่เหมือนอย่างพวกเรา ดังนั้นเราจึงมีสิทธิ์ที่จะทำลายแหล่งน้ำ มีสิทธิ์ที่จะฉุดคร่าลูกชายลูกสาวของพวกเขามาเป็นโสเภณี และที่สุดเราก็ยังยัดเยียดความคิดความเชื่อต่างๆ ให้พวกเขาอีก ลักษณะอย่างนี้ยังมีอยู่ทั่วไปในสังคม ไม่เฉพาะ "พวกมีอำนาจ" หรือ "พวกมีการศึกษาน้อย" เท่านั้น

ประการสุดท้าย การเมืองชนิดผูกขาดก็เป็นอีกหน้าตาหนึ่งของโครงสร้างแห่งความเกลียดชัง ที่ใดก็ตามที่คนกลุ่มเล็กๆ ใช้อุบายกีดกันคนอื่นๆ ออกจากอำนาจ ออกจากสิทธิการตัดสินใจในแนวทางชีวิตที่เขาดำรงอยู่ ที่นั้นความรุนแรงความเกลียดชังก็เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ชัดว่า ไม่มีโครงสร้างใดที่กล่าวมานี้จะเป็นอิสระแยกอยู่ต่างหากจากกัน นี่คือโลกแห่งการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน และโครงสร้างอันหลากหลายของกิเลสและความเห็นแก่ตัวเหล่านี้ต่างก็ส่งเสริมหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน(ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้