วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความกลัว (ภยะ)

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความกลัว (ภยะ) : เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา" ดังนี้

กิเลสที่สยายปีกอยู่ทุกวงการอีกตัวหนึ่ง ก็คือ "ความกลัว" ทุกวันนี้ความกลัวกลายเป็นโครงสร้างอันยิ่งใหญ่ในวงการทางการแพทย์ ซึ่งไม่ค่อยพยายามที่จะป้องกันบำบัดความป่วยไข้ ตรงกันข้ามกลับพยายามทำลายเวชศาสตร์ท้องถิ่นที่เคยช่วยชาวบ้านในการป้องกันโรค(ดูเชิงอรรถ ๑๒) กลายเป็นว่าเราได้สร้างระบบที่เพิ่มความกลัวและความกังวลให้มากขึ้น ซึ่งเพิ่มโรคภัยไข้เจ็บขึ้นอีกตามสัดส่วน ในทางเดียวกันก็เปิดช่องให้การแพทย์กับทุนนิยมจับมือไปด้วยกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย อุตสาหกรรมทางการแพทย์อันเป็นสถาบันทางสังคมอันทรงพลังนี้ได่ส่งเสริมสนับสนุนและหากินอยู่กับความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวตาย กลัวความป่วยไข้ ความแก่ ความหย่อนยาน กลัวน้ำหนักเกินฯลฯ แน่นอนที่สุดอุตสาหกรรมทางการแพทย์อาจช่วยเราแก้ปัญหาอันนี้ได้โดยเราต้องจ่ายราคาค่างวดเป็นตัวเงิน แต่เราไม่เพียงต้องจ่ายแค่นั้นเท่านั้น เพราะสุขภาพของเรากลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งไปเสียแล้ว สิ่งทั้งหลายที่ไม่เคยเป็นปัญหาจริงๆ อย่างเช่น ความเหี่ยวย่นหย่อนยาน การอ้วนขึ้นเล็กน้อย ศีรษะเริ่มล้าน เต้านมเล็กเกินไป (แม้แต่ทารกยังไม่บ่นเลย) เรื่องเหล่านี้ถูกทำให้เป็นปัญหา โดยความกลัวที่โหมประโคมขึ้นโดยสถาบัน (Institutionalized Fear) หรือสิ่งที่ปัญญาชนอย่าง ไอวาน อิงลิช พูดถึงมันว่าเป็น "กระบวนการทำให้คนในสังคมเชื่อว่าตัวเองเป็นโรค" (ดูเชิงอรรถ ๑๓) อุตสาหกรรมด้านการประกันภัย ก็เลยรับช่วงต่อเล่นบทบาทส่งเสริมตรงจุดนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเข้ามาตอกย้ำความกลัวซ้ำแล้วซ้ำอีก ภายใต้ข้ออ้างว่าช่วยบรรเทาความกลัวให้น้อยลง และเราก็ต้องควักกระเป๋าซื้อกรมธรรม์อีกเช่นเคย ความมั่นคงปลอดภัยก็เลยกลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่ง

ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของความกลัวเชิงโครงสร้างจะพบเห็นบ่อยๆ ในศาสนา ซึ่งไม่ใช่ศาสนาที่แท้หากเป็นแต่เพียงชื่อว่าศาสนาเท่านั้น เพราะแทนที่จะเป็นการสละตนอย่างแท้จริงต่อสิ่งที่สูงกว่าเราและทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า "เป็นหัวใจของศาสนา" แต่กลับพบว่าศาสนาเหล่านั้นเต็มไปด้วยพิธีกรรม ความเชื่ออันเหลวไหลและเป็นไสยศาสตร์ซึ่งบูชาความกลัวเข้าไปอีก แทนที่จะช่วยให้พวกเราเป็นอิสระและเอาชนะความกลัวตาย ความกลัวต่อการสูญเสียของรัก กลัวเจ็บปวด กลัวการจากพราก และอื่นๆ ระบบศาสนาทั้งหลายกลับใช้ความกลัวของเราเป็นเครื่องมือสนับสนุนสถาบันตัวเอง เป็นตัวทำเงินและที่คอยหยิบยื่นความสุขสบายให้แก่นักบวช เจ้าหน้าที่ และพระเณร

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ลัทธิอคติทางเพศ : กิเลสทุกชนิด" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อ ให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วย ลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้
เชิงอรรถ
๑๒ - สำหรับตัวอย่างในประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ ของสมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา (AMA) เงินจำนวนมหาศาลได้หลั่งไหลเข้าสู่ความพยายามเพื่อวิ่งเต้นในการทำลายเวชกรรมทางธรรมชาติ เป้าหมายเพื่อการผูกขาดแก่สมาชิก AMA นั่นเอง ในประเทศสยามบรรษัทผลิตยาข้ามชาติประสบความสำเร็จในการวิ่งเต้นให้รัฐบาลสั่งห้ามการใช้ยาสมุนไพร (โชคยังดี ที่มีหมอที่เห็นคุณค่าของสมุนไพรและคำสั่งนี้ได้ถูกยกเลิกไป)
๑๓ - หมายถึง การทำให้คนคุ้นเคยกับการคิดว่าตัวเองเป็นโรคนั้นโรคนี้ มากกว่าที่จะสนใจว่าสุขภาพอนามัยที่ถูกต้องเป็นอย่างไร Medical Nemesis : the Expropriation of Health (แพทย์เทพเจ้ากาลี น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ แปล) Random House, New York, 1976

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน การแข่งขัน

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ยาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" ดังนี้

อีกหน้าตาหนึ่งที่สำคัญของมายาคติหรือโมหาคติในระบบเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมก็คือ "การแข่งขัน" ซึ่งมีรากเหง้ามาจากกิเลสตัวสำคัญคือ ความถือตัวอวดดี (มานะ) เพราะเมื่อมี "ตัวตน" ก็ต้องมี "ผู้อื่น" แล้วเราก็เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ในแง่ของความ "ดีกว่า" "เลวกว่า" หรือไม่ก็ "เท่าเทียมกัน" ด้วยวิธีการเปรียบเทียบอย่างนี้ เราก็สร้างตัวตนที่อยู่ในฐานะผู้แข่งขันขึ้นมา บางครั้งก็เลยไปถึงเป็นศัตรูต่อกัน ดังนั้น การแข่งขันจึงเป็นที่ยกย่องบูชากันในวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ ในลัทธิแห่งตลาด ในความเชื่อที่เรามีเกี่ยวกับรัฐชาติ และในการแสวงหาความตื่นเต้นของเรา ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เราจึงเห็นการแข่งขันเป็นสิ่งจำเป็นในการมีชีวิตอยู่ เพราะความเชื่อในการแข่งขันทำให้เราสูญเสียความสามารถในการมองดูผู้อื่นเป็นอย่างพี่ชายน้องสาว เป็นมิตรสหายร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือมองในฐานะเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความกลัว (ภยะ) : เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อ ให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วย ลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้