วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน มายาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ)

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "มยาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" ดังนี้

ความลุ่มหลงมายาคติ คือ การเห็นสรรพสิ่งผิดไปจากที่มันเป็นอยู่ และไม่สามารถมองเห็นตามที่เป็นจริง นั่นคือ การทำสิ่งชั่วร้ายโดยเห็นแก่ประโยชน์ และการแสวงหาผลประโยชน์ผิดๆ ในทางที่ชั่วร้าย ปัจจุบันนี้ โมหะกลายเป็นสิ่งที่เชิดชูบูชากันในระบบการศึกษา ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเรียกว่า "การศึกษาหมาหางด้วน"(คำแปล หมาหางด้วน) "เรียนแต่หนังสือกับอาชีพไม่ได้เรียนธัมมะธัมโมอะไรสำหรับความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เรียนสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์" เท่าที่ข้าพเจ้าทราบแทบไม่มีที่ไหนเลยที่การศึกษาในกระแสหลักจะสนับสนุนให้มนุษย์ได้พบกับความอุดมแห่งปัญญา ไม่มีที่ไหนเลยที่ช่วยให้เด็กผู้ใหญ่หรือแม้แต่พลเมืองอาวุโสได้เผชิญหน้าและเข้าสู่คำถามที่สำคัญในชีวิต ทว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับคำถามเชิงปรนัยที่มีคำตอบให้เลือก แล้วเราก็เลือกคำตอบที่ไร้สาระที่สุด แทนที่จะหาคำตอบที่จริงแท้ด้วยคำถามอันเต็มไปด้วยสติปัญญา

ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นภายในโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือในมหาวิทยาลัย อาจจะมีการแสวงหาที่จริงจังซื่อสัตย์อยู่บ้างในโรงเรียนเหล่านั้น แต่นั่นก็เป็นเพียงกรณียกเว้นซึ่งอยู่นอกเหนือเกณฑ์คาดหมาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัญญาไม่ได้เป็นเป้าหมายของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ หากระบบการศึกษาของเราโดยทั่วไปมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัย เพื่อทำให้เราเข้าไปสู่ลัทธิดังที่เราวิเคราะห์กันในข้อเขียนนี้ นั่นคือ ทุนนิยม บริโภคนิยม ปัจเจกชนนิยม ลัทธิทางชนชั้น ลัทธิแบ่งแยกสีผิว ลัทธินิยมทหารและอื่นๆ ยาขนานเอกแห่งความกลัวทำให้เราอยู่ในกรอบในแถวได้ชงัดนัก การศึกษาประสบผลสำเร็จในระดับที่สามารถทำให้ผู้คนเต็มไจที่จะรับใช้โครงสร้างสังคมดังที่กล่าวมาแล้วนี้ มีน้อยนักที่จะสืบค้นเข้าไปในความจริงแห่งโครงสร้างเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์และเปิดใจกว้าง เราควรจะเรียกสิ่งนี้ว่า "โครงสร้างแห่งมิจฉาศึกษา" ไม่ดีกว่าหรือ? ช่างน่าสงสารเหลือเกินเมื่อสุนัขไม่มีแม้แต่หางที่จะแกว่ง

โมหะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในวงการสื่อสารภายใต้เสื้อคลุมแห่งข่าวสารข้อมูล ในความเป็นจริงแล้วเราต่างก็ถูกท่วมทับด้วยข้อมูลเสมือนจริงอยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยได้รับรายละเอียดอันเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากข้อมูลที่ผิวเผินฉาบฉวยเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดภาพที่น่าตื้นเต้นเพื่อกระตุ้นยั่วยุ เพื่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ เร่งเร้า และที่สุดก็ทำให้เราไขว้เขวออกจากความเป็นจริง ไม่เคยมีข้อมูลที่เป็นจริงเลยในช่วงสามปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยตกเป็นทาสรับใช้อย่างเต็มใจให้กับการยักยอกผลประโยชน์กันในรัฐบาล กองทัพ และธุรกิจที่จับมือกับพวกอิทธิพลมืด เพื่อทำลายชื่อเสียงของพระนักอนุรักษ์ที่ดีที่สุดของเรา ๒ รูป คือ พระพงษ์ศักดิ์ เตชธัมโม และ พระประจักษ์ คุตตจิตโต ท่านทั้งสองรูปถูกบังคับให้ลาสิกขาเนื่องจากการคอร์รัปชั่นระบาดเข้ามาถึงคณะสงฆ์ เป็นเรื่องจริงเหลือเกินที่หนังสือพิมพ์เมืองไทยกำลังทำลายพุทธศาสนากันอย่างจริงจัง เราได้รับการประเล้าประโลมด้วยภาพอันน่าตื่นตาของการโฆษณาทางการเมือง ซึ่งสนับสนุนให้เกิดมายาคติอันทำให้เห็นไปว่านักการเมืองกลุ่มเดียวเท่านั้นที่อยู่ในอำนาจ สื่อมวลชนไม่เคยเปิดเผยต่อเราเลยว่าใครเป็นคนควบคุมสิ่งที่เรากำลังอ่านกำลังเห็นกันอยู่ หรือใครที่อยู่หลังฉากคอยควบคุมนักการเมืองอีกทีหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการตั้งคำถามหรือได้รับการตีแผ่ออกมา

ดังนั้นในระบบสื่อมวลชนและมิจฉาศึกษาเหล่านี้ เราจึงพบว่าโมหะคติหวนกลับเข้าไปสู่โครงสร้างทางสังคมอย่างไร การรวมมือกันของสองสิ่งนี้เราจะได้เห็นกิเลสสองตัวคือ ความเบื่อหน่ายและความตื้นเต้นทำงานอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะในฝ่ายสื่อสารมวลชนที่เป็นตัวสนับสนุนความตื่นตาตื่นใจ ความไขว้เขวสับสนและความโกหกหลอกลวง

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วยลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความเกลียดชัง (โทสะ) : ลัทธิเหยียดสีผิว ชนชั้นวรรณะ และลัทธิอภิสิทธิ์ชน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" ดังนี้

ทีนี้หันมาดูเรื่องราคะกันบ้าง กิเลสตัวนี้ในเชิงโครงสร้างแล้วเราพากันยกย่องบูชามันไว้ในอุตสาหกรรมด้านการบันเทิง ธุรกิจภาพยนตร์จะขายไม่ดีนัก หากไม่มีการยั่วยุกระตุ้นราคะและกามารมณ์ กิจการด้านโทรทัศน์เติบโตพร้อมๆ กับมีเรื่องทางเพศเข้ามาพัวพันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรื่องราวลามกต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น "ความบันเทิงของผู้ชาย" ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหกรรมด้านโฆษณาก็ใช้ภาพลักษณ์ทางเพศมาเป็นสื่อในการขายสินค้าอันไม่จำเป็นสำหรับพวกเรา เราซื้อยาสีฟันเพียงเพราะว่ามันทำให้เรารู้สึกเป็นที่ดึงดูดใจของเพศตรงข้าม ผู้หญิงต้องซื้อยกทรง น้ำหอม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพียงเพื่อที่จะทำให้มีเสน่ห์ดึงดูดใจทางเพศ รถยนต์ทำให้ผู้ชายรู้สึกภูมิฐานกล้าแกร่งเป็นต้น

ในโลกแห่งอุตสาหกรรม ราคะเป็นอะไรมากไปกว่าองค์ประกอบธรรมดาๆ ที่อยู่ในระบบ อย่างในแง่ของอุตสาหกรรมทางเพศแล้วมันเป็นตัวระบบเสียเอง เราเห็นกันได้ชัดในประเทศสยาม คุณจะพบเห็นได้ไม่ว่าที่ไหนที่มีนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือแม้แต่ฐานทัพทหาร อุตสาหกรรมแห่งราคะนี้ผูกพันกันอย่างแยกไม่ออกกับกองทัพ ระบบทุนนิยม และลัทธิแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ นั่นเพราะว่าจะมีเด็กหญิงหรือเด็กชายที่มีฐานะดีจำนวนน้อยมากที่หันมาขายบริการทางเพศมาเป็นเด็กในคลับในบาร์ มาเดินแบบแฟชั่น หรือเป็นพนักงานรับรองในโรงแรม ใน "อุตสาหกรรม" ทั้งหลายเหล่านี้ ราคะซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของมนุษย์ก็ถูกกระตุ้นเพาะพันธุ์และเผยแพร่ออกไปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร มันคือธุรกิจทางเพศ เรื่องเพศคือเรื่องอำนาจ สงครามคืออาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้ชาย จำเป็นที่จะต้องมีอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้หญิงมาสนองตอบ เพื่อทำให้ไอ้หนุ่มทหารใหม่กระฉับกระเฉงและพร้อมที่จะตายเพื่อประเทศชาติ กำหนัดราคะอันเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติ เมื่อขาดการฝึกฝนทางจิตวิญาณที่สามารถจำกัดช่องทางต่อพลังงานอันมีอำนาจมหาศาลอันนี้แล้ว ก็จะถูกบิดเบือนและผสมปนเปจนกลายเป็นเรื่องเสียหายทำลายล้าง มากกว่าที่จะเป็นความสร้างสรรค์ใดๆ โดยข้อเท็จจริงแล้ว อุตสาหกรรมแห่งกำหนัดราคะทั้งหมดนี้ เป็นตัวทำให้มวลชนมัวเมาพึงพอใจกับสถานะที่ไร้ศักดิ์ศรีและไม่มีอนาคต สลับกับการกระตุ้นเร่งเร้าและการตอบสนองต่อความใคร่ความพอใจทางสัญชาตญาณและอารมณ์ จนผู้คนเหล่านี้ไม่สามารถคิดหรือตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่กำลังเป็นไป

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "มายาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความเกลียดชัง

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความเกลียดชัง (โทสะ)" ดังนี้

อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นด้านลบอีกตัวหนึ่ง ก็คือ ความเกลียดชัง ซึ่งเป็นความรู้สึกฝังลึกด้านในที่ไม่ชอบต่อบางสิ่งบางอย่าง หรือใครคนใดคนหนึ่ง หรือพวกใดพวกหนึ่ง โดยการยึดมั่นในตัวตนของเราและสันนิษฐานเอาว่าดี ซื่อสัตย์ สวยงาม ฯลฯ เราจึงเห็นสิ่งไม่ดีในบุคคลอื่น และสิ่งนี้ก็กลายเป็นความเกลียดชังในที่สุด รูปแบบทางโครงสร้างอันหนึ่งของความเกลียดชังก็คือ ลัทธิการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งกำลังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในหมู่คนรวยทางโลกตะวันตก นำมาสู่คำถามที่ว่าแท้ที่จริงแล้วในประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศที่ "พัฒนาแล้ว" อย่างที่กล่าวอ้างกันหรือไม่ ลัทธิแบ่งแยกสีผิวเปิดเผยตัวมันเองออกมาในอคติที่ระบาดอย่างรวดเร็วในการต่อต้านชาวมุสลิม ในความกลัวถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยประเทศแถบเอเชีย ในการขนถ่ายสารพิษไปปล่อยในแอฟริกาและในความเชื่อที่ว่ารัฐบาลทางตะวันตกมีความรู้ความเข้าใจที่ดีกว่าในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคพื้นโลกที่สาม

ลักษณะโครงสร้างของความเกลียดชังอีกด้านก็คือ การแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ เป็นสิ่งหนึ่งที่ตรึงแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและการปกครองแบบศักดินา ซึ่งไม่เพียงแต่มีลักษณะเทอะทะงุ่มง่ามอย่างเช่น นโยบายแบ่งแยกสีผิว และระบบวรรณะที่เห็นกันบางประเทศเท่านั้น หากมันมีอยู่ในทุกสังคม รวมทั้งในการปกครองตามลำดับชั้นจากบนลงล่างและสังคมอำนาจนิยมกึ่งเผด็จการในเอเชีย ลัทธิวรรณะนิยมได้สร้างความเกลียดชังและอคติในระหว่างกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาในสังคมปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันก็คือ ลัทธิการแบ่งแยกนิกายทางศาสนา โดยการแสดงตัวเข้ากับศาสนาหนึ่งใดหรือคณะหรือนิกายหนึ่งนิกายใดโดยเฉพาะ เราก็เลยไม่ถูกกันและหันมาเกลียดชังกันเองระหว่างกลุ่มหรือศาสนา นี่เป็นเพียงรูปแบบใหม่ของกิเลส อย่างเช่น เมื่อเรามีอคติและตัดสินเอาว่า ชนกลุ่มน้อยชาวพื้นเมืองนั้นไม่มีความเป็นมนุษย์ เพราะคนพวกนี้ป่าเถื่อนไร้อารยธรรมไม่เหมือนอย่างพวกเรา ดังนั้นเราจึงมีสิทธิ์ที่จะทำลายแหล่งน้ำ มีสิทธิ์ที่จะฉุดคร่าลูกชายลูกสาวของพวกเขามาเป็นโสเภณี และที่สุดเราก็ยังยัดเยียดความคิดความเชื่อต่างๆ ให้พวกเขาอีก ลักษณะอย่างนี้ยังมีอยู่ทั่วไปในสังคม ไม่เฉพาะ "พวกมีอำนาจ" หรือ "พวกมีการศึกษาน้อย" เท่านั้น

ประการสุดท้าย การเมืองชนิดผูกขาดก็เป็นอีกหน้าตาหนึ่งของโครงสร้างแห่งความเกลียดชัง ที่ใดก็ตามที่คนกลุ่มเล็กๆ ใช้อุบายกีดกันคนอื่นๆ ออกจากอำนาจ ออกจากสิทธิการตัดสินใจในแนวทางชีวิตที่เขาดำรงอยู่ ที่นั้นความรุนแรงความเกลียดชังก็เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ชัดว่า ไม่มีโครงสร้างใดที่กล่าวมานี้จะเป็นอิสระแยกอยู่ต่างหากจากกัน นี่คือโลกแห่งการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน และโครงสร้างอันหลากหลายของกิเลสและความเห็นแก่ตัวเหล่านี้ต่างก็ส่งเสริมหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน(ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภทนิยม" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ดังนี้

กิเลสตัวที่จะพิจารณาต่อไปก็คือ ความโกรธ ซึ่งมีไวพจน์อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความเกลียดชัง การบันดาลโทสะ ความมุ่งร้าย และความคับแค้น ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวยืนยันให้เห็นถึงความแพร่หลายของกิเลสตัวนี้ เมื่อเราโกรธเราหวังจะต่อต้านทำลาย ทำให้เจ็บปวด หรือไม่ก็เข่นฆ่า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นแค่ยุงตัวน้อยๆ หรือเพื่อนหัวโจกในห้องเรียนชั้นสาม ผู้คนในสังคมที่เราไม่ชอบขี้หน้า หรือศัตรูทางการเมือง เมื่อเรามองเห็นผู้คนเป็น "ผู้อื่น" และตัดสินว่าเราไม่ชอบ "พวกเขา" เนื่องจากแตกต่างไปจากเรา เนื่องจากเขามีบางอย่างที่เราต้องการ หรือว่าเรามีความสุขกับการขู่เข็ญ หรือได้รับความตื้นเต้นเมามันจากการทำอย่างนั้น แล้วเราก็แสดงความโกรธออกมาอย่างเปิดเผย

ในด้านสังคม ความโกรธจะแสดงตัวออกมาทางลัทธินิยมทหาร ในรูปของกองทัพ ความลับทางราชการ อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธสงคราม ดาวเทียมสอดแนม พลังงานนิวเคลียร์ (ไม่เคยเป็นไปเพื่อสันติ) การรวมศูนย์ทางสาธารณูปโภค และเครื่องมือด้านความมั่นคงแห่งชาติในนามของรัฐชาติสมัยใหม่ เราได้สร้างสถาบันและเทคโนโลยีเหล่านี้ในนามของการป้องกันตนเองจาก "ผู้อื่น" แต่ในความเป็นจริงมันถูกใช้ไปเพื่อความก้าวร้าวและมีแรงจูงใจมาจากความโกรธ สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับทุกประเทศและถูกช่วงใช้ไปเพื่อต่อต้านต่อผู้คนพลเมืองที่สถาบันเหล่านี้อ้างว่าจะปกป้องดูแล

"เดี๋ยวนี้เราจึงทำอะไรได้ในเรื่องอิเลคทรอนิกส์ เรื่องอวกาศ เรื่องปรมาณู เรื่องต่างๆ แล้วก็ไม่มีที่สิ้นสุด ยังจะทำได้อีกมาก ซึ่งล้วนแต่ส่งเสริมให้เป็นประโยชน์แก่กิเลส ของบุคคลที่คิดแต่จะครองโลกด้วยกันทั้งนั้น"

ประชาชนรู้ว่าโครงสร้างแห่งลัทธิทหารนั้น โดยประวัติศาสตร์แล้วเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิดกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในโลกสมัยใหม่แห่งทุนนิยมและด้วยโครงสร้างทางการเมืองสมัยใหม่ ล่าสุดไม่ว่าจะขวาหรือซ้าย ลัทธินิยมทหารทั้งในนามแห่งชาติแห่งภาคพื้นทวีปหรือแห่งโลก เช่น องค์การนาโต้ หรือการร่วมมือทางทหารอย่างเงียบๆ ของอาเซียน ทั้งหมดนี้เป็นการประกาศตัวอย่างชัดแจ้งของความโกรธเชิงโครงสร้าง

ความโกรธเชิงโครงสร้างยังมาโผล่อยู่ในสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ระบบยุติธรรม" ซึ่งหลายประเทศนำมาใช้ในการตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปราศจากอำนาจ ในหลายกรณีที่ผู้ถูกลงโทษเหล่านั้นเป็นคนยากจน เป็นชนกลุ่มน้อย และเป็นผู้หญิง ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ถ้าผู้ชายฆ่าภรรยาของเขาตาย อย่างมากภายในเวลาห้าปีเขาก็จะถูกปล่อยตัวออกมา แต่ถ้าผู้หญิงฆ่าสามีของเธอ เธอจะต้องถูกจำคุกถึงยี่สิบปี แม้ว่าตลอดมาเธอจะทรมานจากการถูกทุบตีจากสามีเป็นเวลาแรมปีก็ตาม มากไปกว่านั้น ระเบียบการปฏิบัติอันหยาบคายของศาลและตำรวจต่อคนผิวดำก็ไม่สมควรอย่างสิ้นเชิงกับอาชญากรรมที่เขาก่อขึ้น สิ่งนี้น่าจะเรียกเสียใหม่ว่า "ความอยุติธรรม"

ในสหรัฐอเมริกา ระบบอยุติธรรมนี้ได้พุ่งเป้าไปที่การลงโทษผู้กระทำผิดทางกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าคุกจะเป็นการลงทุนที่แพงที่สุดและมีประสิทธิภาพน้อยที่สุดในการยับยั้งอาชญากรรม และที่ยิ่งแย่เข้าไปอีกคุกในอเมริกาและอังกฤษหลายแห่ง กำลังเปิดให้เช่าแรงงานจากนักโทษ และเก็บค่าเช่าเข้ากระเป๋าตัวเอง ดูเหมือนว่าระบบค้าทาสได้หวนกลับมาสู่ "ดินแดนแห่งเสรี" อีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าคนบางฝ่ายในประเทศนี้กำลังฟ้องร้องชาวจีนว่าใช้แรงงานนักโทษอยู่ก็ตาม

ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าอยู่บ้างในศตวรรษที่ผ่านมานี้ อย่างน้อยก็บางประเทศที่มีกระบวนการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและเรื่องชนกลุ่มน้อย แต่ความอยุติธรรมก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะฝังลึกลงไปอย่างซับซ้อนยิ่งขึ้นในสิ่งที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย หรือเป็นสินค้าส่งออกในนามประเทศกำลังพัฒนา แต่ตราบใดที่ "ความยุติธรรม" ยังวางอยู่บนพื้นฐานแห่งการลงโทษทัณฑ์ มันก็คือ การแก้แค้นพยาบาท และโครงสร้างของความโกรธก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความเกลียดชัง (โทสะ) : ลัทธิเหยียดผิวสี ชนชั้นวรรณะ และลัทธิอภิสิทธิ์ชน" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภคนิยม

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภคนิยม" ดังนี้

เริ่มด้วยโลภะ เมื่อกิเลสตัวนี้ฝังแน่นเข้าไปในโครงสร้างทางสังคม ผลสุดท้ายที่จะได้รับก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า ทุนนิยม นักทฤษฎีทุนนิยมที่มีชื่อเสียงอ้างว่าความอยากได้หรือโลภะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ทุนนิยมจึงเป็นแค่ชื่อหนึ่งของความโลภที่ก่อตัวเป็นโครงสร้างหรือสถาบันหลักทางสังคม เมื่อเราเป็นเด็กเราถูกสอนให้ใช้ชีวิตตามแนวคิดแบบทุนนิยม เราถูกสอนให้อยากได้และแข่งขัน นั่นคือสอนให้เห็นแก่ตัว ผลที่ติดตามมาคือ ความโลภที่เกิดขึ้นอย่างธรรมดาๆ ในแต่ละบุคคลก็ผสมปนเปเข้ากับความโลภทางโครงสร้างที่แวดล้อมพวกเราอยู่ จึงทำให้ปัญหาทั้งในระดับส่วนตัวและระดับสังคมยากต่อการรับมือหรือแก้ไขมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นทั่วโลก โลกที่ลัทธิทุนนิยมกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำเพียงหนึ่งเดียว แม้แต่ที่รู้จักกันดีอย่าง กลุ่มประเทศสังคมนิยม ก็กำลังปรับยุทธวิธีของทุนนิยมมาใช้

ลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่ เฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และ ยุคสมัยแห่งการพัฒนา ได้รับเอาความโลภเชิงระบบมาดำเนินการสืบต่อไป ดังนั้น ผลพวงที่คลอดตามกันออกมาก็คือ ลัทธิบริโภคนิยม มาถึงตรงนี้ จึงทำให้บทบาทของทรัพย์สินส่วนบุคคลกลายเป็นเรื่องที่เด่นชัดขึ้นเต็มที่ ขณะเดียวกัน คนชั้นสูงหยิบมือหนึ่งก็ยังคงเกาะกุมอำนาจแห่งต้นทุนของสังคมและวิธีการผลิตเอาไว้ ผู้คนส่วนใหญ่ถูกหลอกลวงด้วยมายาคติแห่งโครงสร้างทางสังคมที่ประกอบด้วยความโลภ ให้ลุ่มหลงกับการสั่งสมส่วนเกินแห่งสินค้า ให้ไล่ตามความสุขสบายทางเนื้อหนังและความมั่นคงปลอดภัย นั่นเพราะว่าพวกเขามีสิทธิ์อำนาจในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของทรัพย์สมบัติมากจนเกินไป จนไม่เห็นว่าคนอื่นๆ ต่างหากที่เป็นเจ้าของสังคม และในหลายกรณีที่ยังมีคนอื่นมาเป็นเจ้าของพวกเขาอีกทีหนึ่ง

มิหนำซ้ำ การท่องเที่ยวยังขายวัฒนธรรม ขายศิลปะ อาหาร ชายหาด สิ่งแวดล้อม และประชากรโลกขายออกไปเหมือนกับสินค้าที่มีไว้เสพไว้บริโภค แทนที่จะรักษาไว้เป็นทรัพยากรของคนทั้งหมดเพื่อประโยชน์แห่งความอยู่ดีกินดี เพื่อประโยชน์แห่งความเข้าใจต่อกัน ความสามัคคี ความสุข ความสงบสันติ ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกซื้อขาย แบ่งแยก และถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้กลไกตลาด พลเมืองท้องถิ่นถูกตัดสินว่าไร้ศักยภาพที่จะจัดการกับทรัพยากรอันสำคัญดังกล่าว พวกเขามีสิทธิ์ก็แค่ได้เข้าทำงานเป็นเด็กซักรีด เด็กเดินโต๊ะ คนขับเท็กซี่ หรือไม่ก็เป็นตัวแสดง ปาหี่วัฒนธรรมตามรสนิยมของผู้บริโภคที่อยู่ในคราบนักท่องเที่ยว

ในระบบดังกล่าว ลำพังปัจเจกชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะมองหาแต่เพียงวิธีการขจัดความโลภในระดับส่วนตัว คงไม่พอเสียแล้วกระมัง หากเขาต้องทำงานร่วมกันเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแห่งความโลภ ไปสู่ระบบที่ปราศจากความโลภ อาจเป็นไปได้ที่ปัจเจกชนบุคคลจำเพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะสามารถกำจัดความโลภภายในตัวเองออกไปเสียได้ แต่พวกเขาก็ต้องพึ่งพิงและมีส่วนร่วมอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความโลภเชิงโครงสร้าง ส่วนพวกเราที่เหลือผู้ที่ไม่ได้เก่งกล้าสามารถด้านจิตวิญญาณ อาจจะถูกเอาเปรียบรังแก ถูกต้มตุ๋น หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือด้วยความโลภที่ห้อมล้อมอยู่ทุกทิศทาง เราอาจจะต้องพบกับความลำบากอย่างสาหัสในการไล่มันออกไป แต่แน่นอนที่สุด เราต้องทำ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะนิ่งดูดายไม่ปกป้องคุ้มครองตัวเรา เพื่อนของเรา และยุวชนรุ่นหลังของเรา

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม" โปรดติดตามครับ

แนะนำความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

หนังสือเกี่ยวกับธรรมะหลายเล่มที่ท่านสามารถค้นหาได้ที่นี่

วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ดังนี้

ข้าพเจ้าเชื่อว่าคำสอนทางพุทธศาสนาที่ละเอียดลึกซึ้งในเรื่องกิเลส อัตตา อุปาทาน และสาเหตุอื่นๆ แห่งความทุกข์นั้นเป็นเครื่องมือซึ่งมนุษย์ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะออกไปจากความยุ่งยากนี้ ขอพวกเรามาประยุกต์คำสอนเหล่านี้กลับไปสู่รากเหง้าของปัญหาสังคม กลับไปสู่รูปแบบอันหลากหลายแห่งทุกข์ทางสังคมที่ปรากฎอยู่ ในข้อเขียนนี้ข้าพเจ้าจะพยายามทำด้วยเช่นกันโดยมีพื้นฐานอยู่ในทัศนะที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยทำไว้

โลกทัศน์ง่ายๆ ที่ใช้ตรวจสอบสาเหตุและรากเหง้าแห่งทุกข์ของสังคมก็คือ "ความเห็นแก่ตัว" เมื่อเราวิเคราะห์ความทุกข์ในส่วนบุคคลโดยใช้หลักปฏิจจสมุปบาท (การอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น) เราจะเห็นว่าทั้งหมดนั้นมันเกี่ยวเนื่องอยู่กับวิธีคิดที่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือความเห็นแก่ตัวของเรานั่นเอง ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราตรวจสอบปัญหาสังคม เราก็พบว่ามันมีรากเหง้าอยู่ในความเห็นแก่ตัวของสังคมหรือสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ในที่นี้ความเห็นแก่ตัวหมายถึง การเป็นห่วงกังวลอยู่แต่เรื่องของตัวเอง ครอบครัวของตัวเอง หรือกลุ่มของตัว (บริษัท ชนชั้น ศาสนา ผิว เชื้อชาติ หรือสโมสรกีฬา) คนเช่นว่านี้จะไม่ใส่ใจต่อความจำเป็นและความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือแม้แต่ไปไกลถึงขนาดเจตนาทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดเมื่อถึงคราวไม่สามารถควบคุมความเห็นแก่ตัวได้ การวิเคราะห์ทางพุทธศาสนาเห็นว่า ความเห็นแก่ตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากตัณหา (ความอยาก) และอุปาทาน ความยึดมั่นว่ามี "ตัวฉัน" หรือ "อัตตา" เป็นผู้อยาก สื่งนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว และภาวะทางจิตที่เต็มไปด้วยตัวตนที่เห็นแก่ตัว ความเกี่ยวเนื่องกันอย่างเป็นเหตุปัจจัยนี้ เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นในระดับส่วนรวมในลักษณะของตัณหาความอยากซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในสังคมของเรา รูปแบบที่แน่นอนของความยึดมั่นถือมั่นจึงเกิดขึ้นในโครงสร้างทางสังคม เรามีเอกลักษณ์ร่วมกันระดับหนึ่งต่อผิวสี ภาษา ศาสนา ประวัติศาสตร์ ลัทธิ และอื่นๆ เราได้กำหนดตัวตนขึ้นมาแล้วเราเห็นแก่ตัวในระดับตัวตนร่วมนั้น ซึ่งบางครั้งเราเรียกขานกันในนาม "ผลประโยขน์แห่งชาติ" ผลประโยชน์แห่งชนชั้น หรือผลประโยชน์อะไรก็ตามแล้วแต่จะอ้าง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิด "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะตรวจสอบค้นหาร่วมกันที่นี่

คำที่มีความหมายเดียวกันกับ "ความเห็นแก่ตัว" ในภาษาบาลีก็คือคำว่า "กิเลส" (ความสกปรกโสโครกที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองและสูญเสียความบริสุทธิ์) ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถหยิบยกเอากิเลสแม่บทที่เราต้องสืบสวนและถอนรากเหง้าในการปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนา มาใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างทางสังคมได้เช่นกัน สิ่งนี้ทำให้เราสะดวกมากขึ้นและยังเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์อันทรงพลัง อีกทั้งยังมีพื้นฐานด้านจิตวิญญาณและศีลธรรม

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภทนิยม" โปรดติดตามครับ

วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "พุทธยาน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์" ดังนี้

ข้าพเจ้าอยากวิเคราะห์อริยสัจจ์สี่แต่ละข้อสืบไป ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อวิสัยทัศน์แห่งธัมมิกสังคมนิยม ทว่าจะไม่ลงลึกในรายละเอียดของการวิเคราะห์สาเหตุด้านในของความทุกข์ แม้ว่าสิ่งนี้จะมีการกล่าวถึงอยู่เนืองๆ เพราะจุดมุ่งหมายของเราในที่นี้ คือ ๑) ทุกข์ของสังคม ๒) สาเหตุแห่งทุกข์ของสังคมหรือของส่วนรวม ๓) คือสิ่งที่รู้จักกันในนามธัมมิกสังคมนิยม ซึ่งเป็นที่ที่ความทุกข์ถูกกำจัดหรืออย่างน้อยก็ทำให้เหลือน้อยลง และ ๔) หนทางที่เราสามารถเดินไปด้วยกันเพื่อประจักษ์แจ้งต่อธัมมิกสังคมนิยม หรือสิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า "ธัมมิกสังคมนิยม" อย่างไรก็ตาม เครื่องมือพื้นฐานในการวิเคราะห์ก็ยังคงเป็นอันเดิมไม่ว่าในแง่มุมแห่งทุกข์จะถูกกล่าวถึงในแง่ไหน

เพื่อที่จะสำรวจเข้าไปในอริยสัจจ์ข้อแรกของสังคม ข้าพเจ้าอยากจะทบทวนรูปแบบบางด้านของความทุกข์ทางสังคมอย่างสั้นๆ โดยการสันนิษฐานว่าทุกคนที่นี่ต่างก็คุ้นเคยกับปัญหาเหล่านี้ แม้จะไม่ลึกลงไปในรายละเอียดมากนัก แต่อย่างน้อยเราก็ยังคงต้องสัมผัสถึงบางส่วนของความทุกข์ ก่อนที่จะเข้าไปสู่สาเหตุของมันเพราะการทำอย่างนี้ จะทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าการประกาศตัวแห่งความทุกข์ในหลายๆ ลักษณะนั้น มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างไร (อิทัปปัจจยตา)

ตลอดข้อเขียนชิ้นนี้ เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เราเรียกว่า "ปัญหาทางสังคม" นั้นไม่สามารถแยกออกจากสิ่งที่เรียกว่า "ทุกข์ส่วนบุคคล" อันเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความทุกข์ที่แสดงตัวอยู่ในตัวเราในฐานะปัจเจกชนซึ่งส่งเสริมและร่วมกันก่อปัญหาต่อสังคมส่วนรวมที่เราสังกัดอยู่ และในทางกลับกัน ก็จะเห็นว่าโครงสร้างทางสังคมที่แสดงตัวอยู่ในปัญหาของส่วนรวมนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเราในหลายๆ ทางอย่างไร ดังนั้นมันจึงส่งเสริมให้เกิดความทุกข์ภายในส่วนตัวบุคคล อย่างที่กำลังกัดกร่อนพวกเราอยู่ แม้ว่าเป้าหมายของข้อเขียนนี้จะพูดถึงความทุกข์พื้นฐานทางสังคม แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่หรือมีความสำคัญมากไปกว่า "ความทุกข์ของปัจเจกบุคคล"

ปัญหาที่โดดเด่นและกำลังระบาดอยู่ทั่วทั้งโลก คือ ลัทธิบริโภคนิยม อันเป็นชุดหนึ่งของปัญหาที่สามารถจัดกลุ่มอยู่ภายใต้หัวข้อปัญหาศีลธรรม วัฒนธรรมและคุณค่า เมื่อผู้คนไม่สามารถยืนอยู่บนปัญญาวัฒนธรรมและประสบการณ์ของตัวเขาเองได้อีกต่อไป แต่มัวไปแสวงหาความสุขและความพอใจในสิ่งที่เป็นวัตถุทีผลิตและโฆษณาโดยวัฒนธรรมแห่งการบริโภค สิ่งนี้จึงสร้างปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย เช่น การล่มสลายของชุมชน เป็นต้น เมื่อแต่ละครอบครัวต่างพุ่งเป้าเฉพาะไปที่ความสุขสบายส่วนตัวและความอยากได้ในสินค้ามากเท่าไร พวกเขาก็จะมีความปรารถนาในการให้เวลาและความพยายามที่จะดำรงไว้ซึ่งความรับผิดชอบและความผูกพันธ์ฉันท์มิตร ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงสนับสนุนความเป็นชุมชนน้อยลงเท่านั้น ดังนั้น เราจึงพบว่าการล่มสลายของชุมชนจะมาพร้อมๆ กับการแพร่ขยายของลัทธิบริโภคนิยมและลัทธิอุตสาหกรรม ความเสื่อมโทรมไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ หากยังดำเนินต่อไป จากระหว่างครอบครัวต่อครอบครัว ก็รุกรานเข้าไปสู่บุคคลที่อยู่ภายในครอบครัวเดียวกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ระดับของความเป็นปัจเจกเพิ่มสูงเกินไปจนหมกมุ่นครอบงำ ผู้คนดังกล่าวก็ไม่สามารถหล่อเลี้ยงความผูกพันภายในครอบครัวไว้ได้ หรือทำได้ก็แต่เพียงผิวเผินเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นในสังคมสมัยใหม่ปัจเจกชนทั้งหลายซึ่งตกหลุมพรางแห่งความเป็นปัจเจกสุดขั้ว (Hyper-individuality) กำลังทรมานกับความแปลกแยกที่เพิ่มมากขึ้นทุกที ซึ่งไม่เฉพาะกับครอบครัวหรือชุมชนเท่านั้น แต่แปลกแยกแม้กระทั่งร่างกายและความรู้สึกของตัวเอง

การบริโภคอย่างโอหังบังอาจที่คิดว่า เราสามารถเป็นเจ้าของหรือควบคุมธรรมชาติได้นั้น ทำให้พวกเราแปลกแยกจากโลกแห่งธรรมชาติ อันเป็นผืนโลกที่เราถือกำเนิดและเป็นโลกที่เราไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ ความแปลกแยกทางจิตใจ ทางอารมณ์และทางจิตวิญญาณนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างมหาศาล เช่น ปัญหามลพิษ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาการสาบสูญไปของสัตว์ป่าและผืนป่าที่ยังไม่ได้บุกเบิก ปัญหาประชากรล้นโลก ปัญหาความน่าเกลียดสกปรกของเมืองและชานเมือง ปัญหาการสูญเสียเผ่าพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังและเกี่ยวโยงกับปัญหาเหล่านี้ก็คือ โลกทัศน์ที่มองสรรพสิ่งเป็นแต่เพียงผลประโยชน์ชั่วแล่นหรือมองเห็นเฉพาะคุณค่าทางด้านวัตถุเท่านั้น และบ่อยครั้งที่จะเห็นเป็นแค่เม็ดเงิน อย่างเช่น เมื่อป่าไม้ถูกมองเห็นเป็นเพียงแผ่นกระดาษเป็นธนบัตร มนุษย์กลายเป็น "ผู้บริโภค" ซึ่งหมายถึง ต้องสอดคล้องกับอำนาจซื้อที่มีอยู่ อันเป็นรายได้มหาศาลที่ถูกขูดรีดเอาไป ด้วยกระบวนการลดทอนคุณค่าของมนุษย์เช่นนี้ เราจึงถูกทำให้แปลกแยกทางจิตวิญญาณซ้ำเข้าไปอีก ซึ่งเป็นปัญหาอันมหึมาที่แสดงตัวในรูปความล่มสลายของศาสนาและศีลธรรมในปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่พุทธศาสนา

ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ความไร้สมรรถภาพของการศึกษาในการบ่มเพาะศีลธรรมและคุณค่าทางศาสนธรรมให้แก่มนุษย์ ซึ่งปรากฏในรูปขยะความรุนแรงอันไร้ความยั้งคิดซึ่งขาดคุณค่าด้านมนุษยธรรมท่วมท้นอยู่เต็มไปหมดตามจอโทรทัศน์และสนามบิน การปราศจากความโปร่งใส ขาดความซื่อสัตย์ ขาดการตรวจสอบ และการไร้ความเป็นผู้นำทางการเมือง ผู้คนจำนวนหนึ่งที่ทำเงินก้อนมหาศาลจากตลาดการเงิน หากไม่ผลิตอะไรเลยพอที่จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แต่กลับดูดซับเอาทรัพยากรเป็นจำนวนมหาศาลโดยผ่านการเก็งกำไรจากการซื้อขายหุ้น การซื้อขายเงินตราล่วงหน้า พันธบัตร ราคาสินค้า และอีกหลายรูปแบบที่รู้จักกันในนามการลงทุน การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ของคนพื้นเมืองในหลายๆ พื้นที่ ความรุนแรงและความอยุติธรรมทางเพศ และอีกมากมายเหลือคณานับ

โปรดติดตามตอนต่อไป "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว"