วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความเกลียดชัง (โทสะ) : ลัทธิเหยียดสีผิว ชนชั้นวรรณะ และลัทธิอภิสิทธิ์ชน" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" ดังนี้

ทีนี้หันมาดูเรื่องราคะกันบ้าง กิเลสตัวนี้ในเชิงโครงสร้างแล้วเราพากันยกย่องบูชามันไว้ในอุตสาหกรรมด้านการบันเทิง ธุรกิจภาพยนตร์จะขายไม่ดีนัก หากไม่มีการยั่วยุกระตุ้นราคะและกามารมณ์ กิจการด้านโทรทัศน์เติบโตพร้อมๆ กับมีเรื่องทางเพศเข้ามาพัวพันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรื่องราวลามกต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น "ความบันเทิงของผู้ชาย" ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหกรรมด้านโฆษณาก็ใช้ภาพลักษณ์ทางเพศมาเป็นสื่อในการขายสินค้าอันไม่จำเป็นสำหรับพวกเรา เราซื้อยาสีฟันเพียงเพราะว่ามันทำให้เรารู้สึกเป็นที่ดึงดูดใจของเพศตรงข้าม ผู้หญิงต้องซื้อยกทรง น้ำหอม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพียงเพื่อที่จะทำให้มีเสน่ห์ดึงดูดใจทางเพศ รถยนต์ทำให้ผู้ชายรู้สึกภูมิฐานกล้าแกร่งเป็นต้น

ในโลกแห่งอุตสาหกรรม ราคะเป็นอะไรมากไปกว่าองค์ประกอบธรรมดาๆ ที่อยู่ในระบบ อย่างในแง่ของอุตสาหกรรมทางเพศแล้วมันเป็นตัวระบบเสียเอง เราเห็นกันได้ชัดในประเทศสยาม คุณจะพบเห็นได้ไม่ว่าที่ไหนที่มีนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือแม้แต่ฐานทัพทหาร อุตสาหกรรมแห่งราคะนี้ผูกพันกันอย่างแยกไม่ออกกับกองทัพ ระบบทุนนิยม และลัทธิแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ นั่นเพราะว่าจะมีเด็กหญิงหรือเด็กชายที่มีฐานะดีจำนวนน้อยมากที่หันมาขายบริการทางเพศมาเป็นเด็กในคลับในบาร์ มาเดินแบบแฟชั่น หรือเป็นพนักงานรับรองในโรงแรม ใน "อุตสาหกรรม" ทั้งหลายเหล่านี้ ราคะซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของมนุษย์ก็ถูกกระตุ้นเพาะพันธุ์และเผยแพร่ออกไปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร มันคือธุรกิจทางเพศ เรื่องเพศคือเรื่องอำนาจ สงครามคืออาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้ชาย จำเป็นที่จะต้องมีอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้หญิงมาสนองตอบ เพื่อทำให้ไอ้หนุ่มทหารใหม่กระฉับกระเฉงและพร้อมที่จะตายเพื่อประเทศชาติ กำหนัดราคะอันเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติ เมื่อขาดการฝึกฝนทางจิตวิญาณที่สามารถจำกัดช่องทางต่อพลังงานอันมีอำนาจมหาศาลอันนี้แล้ว ก็จะถูกบิดเบือนและผสมปนเปจนกลายเป็นเรื่องเสียหายทำลายล้าง มากกว่าที่จะเป็นความสร้างสรรค์ใดๆ โดยข้อเท็จจริงแล้ว อุตสาหกรรมแห่งกำหนัดราคะทั้งหมดนี้ เป็นตัวทำให้มวลชนมัวเมาพึงพอใจกับสถานะที่ไร้ศักดิ์ศรีและไม่มีอนาคต สลับกับการกระตุ้นเร่งเร้าและการตอบสนองต่อความใคร่ความพอใจทางสัญชาตญาณและอารมณ์ จนผู้คนเหล่านี้ไม่สามารถคิดหรือตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่กำลังเป็นไป

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "มายาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

ไม่มีความคิดเห็น: