วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภคนิยม

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภคนิยม" ดังนี้

เริ่มด้วยโลภะ เมื่อกิเลสตัวนี้ฝังแน่นเข้าไปในโครงสร้างทางสังคม ผลสุดท้ายที่จะได้รับก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า ทุนนิยม นักทฤษฎีทุนนิยมที่มีชื่อเสียงอ้างว่าความอยากได้หรือโลภะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ทุนนิยมจึงเป็นแค่ชื่อหนึ่งของความโลภที่ก่อตัวเป็นโครงสร้างหรือสถาบันหลักทางสังคม เมื่อเราเป็นเด็กเราถูกสอนให้ใช้ชีวิตตามแนวคิดแบบทุนนิยม เราถูกสอนให้อยากได้และแข่งขัน นั่นคือสอนให้เห็นแก่ตัว ผลที่ติดตามมาคือ ความโลภที่เกิดขึ้นอย่างธรรมดาๆ ในแต่ละบุคคลก็ผสมปนเปเข้ากับความโลภทางโครงสร้างที่แวดล้อมพวกเราอยู่ จึงทำให้ปัญหาทั้งในระดับส่วนตัวและระดับสังคมยากต่อการรับมือหรือแก้ไขมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นทั่วโลก โลกที่ลัทธิทุนนิยมกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำเพียงหนึ่งเดียว แม้แต่ที่รู้จักกันดีอย่าง กลุ่มประเทศสังคมนิยม ก็กำลังปรับยุทธวิธีของทุนนิยมมาใช้

ลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่ เฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และ ยุคสมัยแห่งการพัฒนา ได้รับเอาความโลภเชิงระบบมาดำเนินการสืบต่อไป ดังนั้น ผลพวงที่คลอดตามกันออกมาก็คือ ลัทธิบริโภคนิยม มาถึงตรงนี้ จึงทำให้บทบาทของทรัพย์สินส่วนบุคคลกลายเป็นเรื่องที่เด่นชัดขึ้นเต็มที่ ขณะเดียวกัน คนชั้นสูงหยิบมือหนึ่งก็ยังคงเกาะกุมอำนาจแห่งต้นทุนของสังคมและวิธีการผลิตเอาไว้ ผู้คนส่วนใหญ่ถูกหลอกลวงด้วยมายาคติแห่งโครงสร้างทางสังคมที่ประกอบด้วยความโลภ ให้ลุ่มหลงกับการสั่งสมส่วนเกินแห่งสินค้า ให้ไล่ตามความสุขสบายทางเนื้อหนังและความมั่นคงปลอดภัย นั่นเพราะว่าพวกเขามีสิทธิ์อำนาจในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของทรัพย์สมบัติมากจนเกินไป จนไม่เห็นว่าคนอื่นๆ ต่างหากที่เป็นเจ้าของสังคม และในหลายกรณีที่ยังมีคนอื่นมาเป็นเจ้าของพวกเขาอีกทีหนึ่ง

มิหนำซ้ำ การท่องเที่ยวยังขายวัฒนธรรม ขายศิลปะ อาหาร ชายหาด สิ่งแวดล้อม และประชากรโลกขายออกไปเหมือนกับสินค้าที่มีไว้เสพไว้บริโภค แทนที่จะรักษาไว้เป็นทรัพยากรของคนทั้งหมดเพื่อประโยชน์แห่งความอยู่ดีกินดี เพื่อประโยชน์แห่งความเข้าใจต่อกัน ความสามัคคี ความสุข ความสงบสันติ ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกซื้อขาย แบ่งแยก และถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้กลไกตลาด พลเมืองท้องถิ่นถูกตัดสินว่าไร้ศักยภาพที่จะจัดการกับทรัพยากรอันสำคัญดังกล่าว พวกเขามีสิทธิ์ก็แค่ได้เข้าทำงานเป็นเด็กซักรีด เด็กเดินโต๊ะ คนขับเท็กซี่ หรือไม่ก็เป็นตัวแสดง ปาหี่วัฒนธรรมตามรสนิยมของผู้บริโภคที่อยู่ในคราบนักท่องเที่ยว

ในระบบดังกล่าว ลำพังปัจเจกชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะมองหาแต่เพียงวิธีการขจัดความโลภในระดับส่วนตัว คงไม่พอเสียแล้วกระมัง หากเขาต้องทำงานร่วมกันเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแห่งความโลภ ไปสู่ระบบที่ปราศจากความโลภ อาจเป็นไปได้ที่ปัจเจกชนบุคคลจำเพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะสามารถกำจัดความโลภภายในตัวเองออกไปเสียได้ แต่พวกเขาก็ต้องพึ่งพิงและมีส่วนร่วมอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความโลภเชิงโครงสร้าง ส่วนพวกเราที่เหลือผู้ที่ไม่ได้เก่งกล้าสามารถด้านจิตวิญญาณ อาจจะถูกเอาเปรียบรังแก ถูกต้มตุ๋น หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือด้วยความโลภที่ห้อมล้อมอยู่ทุกทิศทาง เราอาจจะต้องพบกับความลำบากอย่างสาหัสในการไล่มันออกไป แต่แน่นอนที่สุด เราต้องทำ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะนิ่งดูดายไม่ปกป้องคุ้มครองตัวเรา เพื่อนของเรา และยุวชนรุ่นหลังของเรา

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม" โปรดติดตามครับ

แนะนำความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

หนังสือเกี่ยวกับธรรมะหลายเล่มที่ท่านสามารถค้นหาได้ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น: