วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ความโกรธ (โกธะ) : ลัทธิทหารและความอยุติธรรม

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภทนิยม" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ดังนี้

กิเลสตัวที่จะพิจารณาต่อไปก็คือ ความโกรธ ซึ่งมีไวพจน์อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความเกลียดชัง การบันดาลโทสะ ความมุ่งร้าย และความคับแค้น ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวยืนยันให้เห็นถึงความแพร่หลายของกิเลสตัวนี้ เมื่อเราโกรธเราหวังจะต่อต้านทำลาย ทำให้เจ็บปวด หรือไม่ก็เข่นฆ่า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นแค่ยุงตัวน้อยๆ หรือเพื่อนหัวโจกในห้องเรียนชั้นสาม ผู้คนในสังคมที่เราไม่ชอบขี้หน้า หรือศัตรูทางการเมือง เมื่อเรามองเห็นผู้คนเป็น "ผู้อื่น" และตัดสินว่าเราไม่ชอบ "พวกเขา" เนื่องจากแตกต่างไปจากเรา เนื่องจากเขามีบางอย่างที่เราต้องการ หรือว่าเรามีความสุขกับการขู่เข็ญ หรือได้รับความตื้นเต้นเมามันจากการทำอย่างนั้น แล้วเราก็แสดงความโกรธออกมาอย่างเปิดเผย

ในด้านสังคม ความโกรธจะแสดงตัวออกมาทางลัทธินิยมทหาร ในรูปของกองทัพ ความลับทางราชการ อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธสงคราม ดาวเทียมสอดแนม พลังงานนิวเคลียร์ (ไม่เคยเป็นไปเพื่อสันติ) การรวมศูนย์ทางสาธารณูปโภค และเครื่องมือด้านความมั่นคงแห่งชาติในนามของรัฐชาติสมัยใหม่ เราได้สร้างสถาบันและเทคโนโลยีเหล่านี้ในนามของการป้องกันตนเองจาก "ผู้อื่น" แต่ในความเป็นจริงมันถูกใช้ไปเพื่อความก้าวร้าวและมีแรงจูงใจมาจากความโกรธ สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับทุกประเทศและถูกช่วงใช้ไปเพื่อต่อต้านต่อผู้คนพลเมืองที่สถาบันเหล่านี้อ้างว่าจะปกป้องดูแล

"เดี๋ยวนี้เราจึงทำอะไรได้ในเรื่องอิเลคทรอนิกส์ เรื่องอวกาศ เรื่องปรมาณู เรื่องต่างๆ แล้วก็ไม่มีที่สิ้นสุด ยังจะทำได้อีกมาก ซึ่งล้วนแต่ส่งเสริมให้เป็นประโยชน์แก่กิเลส ของบุคคลที่คิดแต่จะครองโลกด้วยกันทั้งนั้น"

ประชาชนรู้ว่าโครงสร้างแห่งลัทธิทหารนั้น โดยประวัติศาสตร์แล้วเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิดกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในโลกสมัยใหม่แห่งทุนนิยมและด้วยโครงสร้างทางการเมืองสมัยใหม่ ล่าสุดไม่ว่าจะขวาหรือซ้าย ลัทธินิยมทหารทั้งในนามแห่งชาติแห่งภาคพื้นทวีปหรือแห่งโลก เช่น องค์การนาโต้ หรือการร่วมมือทางทหารอย่างเงียบๆ ของอาเซียน ทั้งหมดนี้เป็นการประกาศตัวอย่างชัดแจ้งของความโกรธเชิงโครงสร้าง

ความโกรธเชิงโครงสร้างยังมาโผล่อยู่ในสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ระบบยุติธรรม" ซึ่งหลายประเทศนำมาใช้ในการตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปราศจากอำนาจ ในหลายกรณีที่ผู้ถูกลงโทษเหล่านั้นเป็นคนยากจน เป็นชนกลุ่มน้อย และเป็นผู้หญิง ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ถ้าผู้ชายฆ่าภรรยาของเขาตาย อย่างมากภายในเวลาห้าปีเขาก็จะถูกปล่อยตัวออกมา แต่ถ้าผู้หญิงฆ่าสามีของเธอ เธอจะต้องถูกจำคุกถึงยี่สิบปี แม้ว่าตลอดมาเธอจะทรมานจากการถูกทุบตีจากสามีเป็นเวลาแรมปีก็ตาม มากไปกว่านั้น ระเบียบการปฏิบัติอันหยาบคายของศาลและตำรวจต่อคนผิวดำก็ไม่สมควรอย่างสิ้นเชิงกับอาชญากรรมที่เขาก่อขึ้น สิ่งนี้น่าจะเรียกเสียใหม่ว่า "ความอยุติธรรม"

ในสหรัฐอเมริกา ระบบอยุติธรรมนี้ได้พุ่งเป้าไปที่การลงโทษผู้กระทำผิดทางกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าคุกจะเป็นการลงทุนที่แพงที่สุดและมีประสิทธิภาพน้อยที่สุดในการยับยั้งอาชญากรรม และที่ยิ่งแย่เข้าไปอีกคุกในอเมริกาและอังกฤษหลายแห่ง กำลังเปิดให้เช่าแรงงานจากนักโทษ และเก็บค่าเช่าเข้ากระเป๋าตัวเอง ดูเหมือนว่าระบบค้าทาสได้หวนกลับมาสู่ "ดินแดนแห่งเสรี" อีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าคนบางฝ่ายในประเทศนี้กำลังฟ้องร้องชาวจีนว่าใช้แรงงานนักโทษอยู่ก็ตาม

ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าอยู่บ้างในศตวรรษที่ผ่านมานี้ อย่างน้อยก็บางประเทศที่มีกระบวนการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและเรื่องชนกลุ่มน้อย แต่ความอยุติธรรมก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะฝังลึกลงไปอย่างซับซ้อนยิ่งขึ้นในสิ่งที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย หรือเป็นสินค้าส่งออกในนามประเทศกำลังพัฒนา แต่ตราบใดที่ "ความยุติธรรม" ยังวางอยู่บนพื้นฐานแห่งการลงโทษทัณฑ์ มันก็คือ การแก้แค้นพยาบาท และโครงสร้างของความโกรธก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความเกลียดชัง (โทสะ) : ลัทธิเหยียดผิวสี ชนชั้นวรรณะ และลัทธิอภิสิทธิ์ชน" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

ลิงค์หรือบทความที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้

หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

ไม่มีความคิดเห็น: