วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "การประกาศตัวทางสังคมของความทุกข์" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ดังนี้

ข้าพเจ้าเชื่อว่าคำสอนทางพุทธศาสนาที่ละเอียดลึกซึ้งในเรื่องกิเลส อัตตา อุปาทาน และสาเหตุอื่นๆ แห่งความทุกข์นั้นเป็นเครื่องมือซึ่งมนุษย์ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะออกไปจากความยุ่งยากนี้ ขอพวกเรามาประยุกต์คำสอนเหล่านี้กลับไปสู่รากเหง้าของปัญหาสังคม กลับไปสู่รูปแบบอันหลากหลายแห่งทุกข์ทางสังคมที่ปรากฎอยู่ ในข้อเขียนนี้ข้าพเจ้าจะพยายามทำด้วยเช่นกันโดยมีพื้นฐานอยู่ในทัศนะที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยทำไว้

โลกทัศน์ง่ายๆ ที่ใช้ตรวจสอบสาเหตุและรากเหง้าแห่งทุกข์ของสังคมก็คือ "ความเห็นแก่ตัว" เมื่อเราวิเคราะห์ความทุกข์ในส่วนบุคคลโดยใช้หลักปฏิจจสมุปบาท (การอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น) เราจะเห็นว่าทั้งหมดนั้นมันเกี่ยวเนื่องอยู่กับวิธีคิดที่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือความเห็นแก่ตัวของเรานั่นเอง ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราตรวจสอบปัญหาสังคม เราก็พบว่ามันมีรากเหง้าอยู่ในความเห็นแก่ตัวของสังคมหรือสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ในที่นี้ความเห็นแก่ตัวหมายถึง การเป็นห่วงกังวลอยู่แต่เรื่องของตัวเอง ครอบครัวของตัวเอง หรือกลุ่มของตัว (บริษัท ชนชั้น ศาสนา ผิว เชื้อชาติ หรือสโมสรกีฬา) คนเช่นว่านี้จะไม่ใส่ใจต่อความจำเป็นและความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือแม้แต่ไปไกลถึงขนาดเจตนาทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดเมื่อถึงคราวไม่สามารถควบคุมความเห็นแก่ตัวได้ การวิเคราะห์ทางพุทธศาสนาเห็นว่า ความเห็นแก่ตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากตัณหา (ความอยาก) และอุปาทาน ความยึดมั่นว่ามี "ตัวฉัน" หรือ "อัตตา" เป็นผู้อยาก สื่งนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว และภาวะทางจิตที่เต็มไปด้วยตัวตนที่เห็นแก่ตัว ความเกี่ยวเนื่องกันอย่างเป็นเหตุปัจจัยนี้ เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นในระดับส่วนรวมในลักษณะของตัณหาความอยากซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในสังคมของเรา รูปแบบที่แน่นอนของความยึดมั่นถือมั่นจึงเกิดขึ้นในโครงสร้างทางสังคม เรามีเอกลักษณ์ร่วมกันระดับหนึ่งต่อผิวสี ภาษา ศาสนา ประวัติศาสตร์ ลัทธิ และอื่นๆ เราได้กำหนดตัวตนขึ้นมาแล้วเราเห็นแก่ตัวในระดับตัวตนร่วมนั้น ซึ่งบางครั้งเราเรียกขานกันในนาม "ผลประโยขน์แห่งชาติ" ผลประโยชน์แห่งชนชั้น หรือผลประโยชน์อะไรก็ตามแล้วแต่จะอ้าง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิด "โครงสร้างแห่งความเห็นแก่ตัว" ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะตรวจสอบค้นหาร่วมกันที่นี่

คำที่มีความหมายเดียวกันกับ "ความเห็นแก่ตัว" ในภาษาบาลีก็คือคำว่า "กิเลส" (ความสกปรกโสโครกที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองและสูญเสียความบริสุทธิ์) ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถหยิบยกเอากิเลสแม่บทที่เราต้องสืบสวนและถอนรากเหง้าในการปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนา มาใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างทางสังคมได้เช่นกัน สิ่งนี้ทำให้เราสะดวกมากขึ้นและยังเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์อันทรงพลัง อีกทั้งยังมีพื้นฐานด้านจิตวิญญาณและศีลธรรม

ปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความโลภ (โลภะ) : ทุนนิยม บริโภทนิยม" โปรดติดตามครับ

ไม่มีความคิดเห็น: