วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน มายาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ)

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความกำหนัด ทะเยอทะยาน (ราคะ) : ปัญหาโสเภณี การบันเทิง การท่องเที่ยวและธุรกิจ" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "มยาคติ ความลุ่มหลง (โมหะ) : การศึกษา และสื่อสารมวลชน" ดังนี้

ความลุ่มหลงมายาคติ คือ การเห็นสรรพสิ่งผิดไปจากที่มันเป็นอยู่ และไม่สามารถมองเห็นตามที่เป็นจริง นั่นคือ การทำสิ่งชั่วร้ายโดยเห็นแก่ประโยชน์ และการแสวงหาผลประโยชน์ผิดๆ ในทางที่ชั่วร้าย ปัจจุบันนี้ โมหะกลายเป็นสิ่งที่เชิดชูบูชากันในระบบการศึกษา ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเรียกว่า "การศึกษาหมาหางด้วน"(คำแปล หมาหางด้วน) "เรียนแต่หนังสือกับอาชีพไม่ได้เรียนธัมมะธัมโมอะไรสำหรับความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เรียนสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์" เท่าที่ข้าพเจ้าทราบแทบไม่มีที่ไหนเลยที่การศึกษาในกระแสหลักจะสนับสนุนให้มนุษย์ได้พบกับความอุดมแห่งปัญญา ไม่มีที่ไหนเลยที่ช่วยให้เด็กผู้ใหญ่หรือแม้แต่พลเมืองอาวุโสได้เผชิญหน้าและเข้าสู่คำถามที่สำคัญในชีวิต ทว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับคำถามเชิงปรนัยที่มีคำตอบให้เลือก แล้วเราก็เลือกคำตอบที่ไร้สาระที่สุด แทนที่จะหาคำตอบที่จริงแท้ด้วยคำถามอันเต็มไปด้วยสติปัญญา

ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นภายในโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือในมหาวิทยาลัย อาจจะมีการแสวงหาที่จริงจังซื่อสัตย์อยู่บ้างในโรงเรียนเหล่านั้น แต่นั่นก็เป็นเพียงกรณียกเว้นซึ่งอยู่นอกเหนือเกณฑ์คาดหมาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัญญาไม่ได้เป็นเป้าหมายของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ หากระบบการศึกษาของเราโดยทั่วไปมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัย เพื่อทำให้เราเข้าไปสู่ลัทธิดังที่เราวิเคราะห์กันในข้อเขียนนี้ นั่นคือ ทุนนิยม บริโภคนิยม ปัจเจกชนนิยม ลัทธิทางชนชั้น ลัทธิแบ่งแยกสีผิว ลัทธินิยมทหารและอื่นๆ ยาขนานเอกแห่งความกลัวทำให้เราอยู่ในกรอบในแถวได้ชงัดนัก การศึกษาประสบผลสำเร็จในระดับที่สามารถทำให้ผู้คนเต็มไจที่จะรับใช้โครงสร้างสังคมดังที่กล่าวมาแล้วนี้ มีน้อยนักที่จะสืบค้นเข้าไปในความจริงแห่งโครงสร้างเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์และเปิดใจกว้าง เราควรจะเรียกสิ่งนี้ว่า "โครงสร้างแห่งมิจฉาศึกษา" ไม่ดีกว่าหรือ? ช่างน่าสงสารเหลือเกินเมื่อสุนัขไม่มีแม้แต่หางที่จะแกว่ง

โมหะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในวงการสื่อสารภายใต้เสื้อคลุมแห่งข่าวสารข้อมูล ในความเป็นจริงแล้วเราต่างก็ถูกท่วมทับด้วยข้อมูลเสมือนจริงอยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยได้รับรายละเอียดอันเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากข้อมูลที่ผิวเผินฉาบฉวยเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดภาพที่น่าตื้นเต้นเพื่อกระตุ้นยั่วยุ เพื่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ เร่งเร้า และที่สุดก็ทำให้เราไขว้เขวออกจากความเป็นจริง ไม่เคยมีข้อมูลที่เป็นจริงเลยในช่วงสามปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยตกเป็นทาสรับใช้อย่างเต็มใจให้กับการยักยอกผลประโยชน์กันในรัฐบาล กองทัพ และธุรกิจที่จับมือกับพวกอิทธิพลมืด เพื่อทำลายชื่อเสียงของพระนักอนุรักษ์ที่ดีที่สุดของเรา ๒ รูป คือ พระพงษ์ศักดิ์ เตชธัมโม และ พระประจักษ์ คุตตจิตโต ท่านทั้งสองรูปถูกบังคับให้ลาสิกขาเนื่องจากการคอร์รัปชั่นระบาดเข้ามาถึงคณะสงฆ์ เป็นเรื่องจริงเหลือเกินที่หนังสือพิมพ์เมืองไทยกำลังทำลายพุทธศาสนากันอย่างจริงจัง เราได้รับการประเล้าประโลมด้วยภาพอันน่าตื่นตาของการโฆษณาทางการเมือง ซึ่งสนับสนุนให้เกิดมายาคติอันทำให้เห็นไปว่านักการเมืองกลุ่มเดียวเท่านั้นที่อยู่ในอำนาจ สื่อมวลชนไม่เคยเปิดเผยต่อเราเลยว่าใครเป็นคนควบคุมสิ่งที่เรากำลังอ่านกำลังเห็นกันอยู่ หรือใครที่อยู่หลังฉากคอยควบคุมนักการเมืองอีกทีหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการตั้งคำถามหรือได้รับการตีแผ่ออกมา

ดังนั้นในระบบสื่อมวลชนและมิจฉาศึกษาเหล่านี้ เราจึงพบว่าโมหะคติหวนกลับเข้าไปสู่โครงสร้างทางสังคมอย่างไร การรวมมือกันของสองสิ่งนี้เราจะได้เห็นกิเลสสองตัวคือ ความเบื่อหน่ายและความตื้นเต้นทำงานอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะในฝ่ายสื่อสารมวลชนที่เป็นตัวสนับสนุนความตื่นตาตื่นใจ ความไขว้เขวสับสนและความโกหกหลอกลวง

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "การแข่งขัน : ทุนนิยม การกีฬา และวิถีชีวิต" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง
: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วยลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้
หนังสือหรือสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทความนี้

ไม่มีความคิดเห็น: