วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่

เค้าโครงแห่งอริยสัจจ์สี่

เค้าโครงพื้นฐานของข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ในรูปของอริยสัจจ์สี่ เนื่องจากท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้ใช้อริยสัจจ์สี่เป็นเค้าโครงพื้นฐานในการแสดงความคิดของท่านอยู่เสมอ ดังนั้นข้าพเจ้าจะพยายามทำในสิ่งเดียวกัน การทำอย่างนี้เราจะได้รับประโยชน์หลายทางทีเดียว ประการแรก จะทำให้เราอยู่ในร่องในรอยและมุ่งตรงไปยังเป้าหมายของพระพุทธศาสนานั่นคือ การดับทุกข์ การตั้งเป้าไปยังหน้าที่พื้นฐานของพุทธศาสนา จะป้องกันเราจากการพลัดหลงไปสู่จุดประสงค์อื่นที่เป็นเรื่องรองออกไป ซึ่งมักเกิดขึ้นอยู่เสมอรวมทั้งในหมู่พวกเราเอง ซึ่งเป็นชาวพุทธที่ทำงานเพื่อสังคม (Engaged Buddhists) ประการที่สอง อริยสัจจ์สี่เป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นอย่างประณีตแยบคาย เพราะฉะนั้น การใช้วิธีนี้จึงทำให้เรามีพื้นฐานอยู่ในความคิด ประสบการณ์ และคำสอนของพระพุทธองค์โดยตรง มากไปกว่านั้น อริยสัจจ์สี่เป็นเค้าโครงที่สมบูรณ์ เข้าใจได้ง่าย และยังครอบคลุมแง่มุมที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ปัญหาหรือความจริงใดที่เราเผชิญหน้าอยู่ อย่างเช่น การค้นพบแห่ง ธัมมิกสังคม ที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่นี้ก็เช่นเดียวกัน อีกทั้งเป็นเค้าโครงที่ตั้งอยู่บนเหตุผล ซึ่งพวกเราสามารถคิดค้น สืบสวน และวิเคราะห์เข้าไปในรายละเอียดอันลึกซึ่งเท่าที่เราต้องการ และอริยสัจจ์สี่นั้นเป็นไปตามกฏเกณฑ์ ทนต่อการพิสูจน์ และยังมีรากเหง้าเดิมอยู่ในประสบการณ์ของมนุษย์ ประการสุดท้าย สรรพชีวิตทั้งหมดทั้งสิ้นต่างก็มีความทุกข์เสมอหน้ากันทั่วทั้งสากลจักรวาล

ถึงแม้พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำสอนอันนี้ ทว่าต่อพวกเราบางคนอาจจำเป็นที่จะต้องประเมินกันอีกครั้งหนึ่งว่า เราเข้าใจอริยสัจจ์สี่ในฐานที่เป็นวิธีการของพุทธศาสนาในการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ ในการทำอย่างนี้ท่านได้เขียนเสียใหม่และสรุปไว้เป็นสำนวนสั้นๆ ในรูปของคำถามเหล่านี้

ตัวปัญหาคืออะไร.....คืออะไร?

สาเหตุของมันคืออะไร.....จากอะไร?

เป้าหมายหรือความดับของมันคืออะไร.....เพื่ออะไร?

เราจะมีวิธีการไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างไร.....โดยวิธีใด?

อริยสัจจ์ข้อแรก ชี้ให้เราเห็นถึงปัญหา ว่ามีปัญหาซึ่งเรียกร้องให้เราอยู่ในฐานะเป็นหน้าที่ของมนุษย์และฐานะเป็นชาวพุทธที่ทำงานเพื่อสังคม ประการที่สอง ปัญหาแต่ละปัญหาเกิดขึ้นอย่างมีเหตุและเป็นปัจจัย หากเราต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป สิ่งนี้ก็ต้องมีการสำรวจสืบค้นและทำความเข้าใจกันต่อไป ประการที่สาม ที่สุดแล้วปัญหาเหล่านี้มีจุดจบ หมายถึง มีภาวะหรือความเป็นจริงซึ่งสามารถเข้าถึงในการทำให้ปัญหานั้นไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป บางครั้งท่านอาจารย์พุทธทาสพูดถึงสิ่งนี้ว่าเป็นเป้าหมายของปัญหา ตัวอย่างเช่น เป้าหมายของความทุกข์จะชี้ให้เราเห็นว่า ภาวะและความเป็นจริงแห่งความสิ้นทุกข์นั้นมีอยู่ นั่นคือ พระนิพพาน และประการที่สี่ คือ วิถีทางที่จะแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไป ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เราต้องปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในการถอดถอนปลดเปลื้อวสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งต่อจุดสิ้นสุดของปัญหา

แม้พวกเราซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเค้าโครงนี้ แต่ด้วยความเคยชินจึงเกิดการบิดเบือนขึ้น อย่างบางคนไปเจาะจงเป็นเฉพาะบุคคลมากเกินไป ขณะที่บางคนเห็นเป็นนามธรรมหรือครอบจักรวาลมากไป ในการตอบคำถามนี้ ข้าพเจ้ามีข้อเสนอแนะเล็กน้อยเพื่อช่วยให้พวกเราสามารถใช้เค้าโครงของอริยสัจจ์สี่อย่างถูกต้อง อย่างในพระสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าเป็น ความทุกข์ของฉัน หรือ ความทุกข์ของเขา แต่ตรัสว่า ความทุกข์นั้นมีอยู่ เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักในข้อเท็จจริงนี้และไม่เจาะจงเป็นตัวบุคคลมากเกินไป กระทั่งกลายเป็นเรื่อง ความทุกข์ของฉัน และ การกำจัด ความทุกข์ของฉัน พุทธศาสนิกชนหลายท่านตกอยู่ในหลุมพรางอันนี้ นี่คือเหตุผลพื้นฐานว่าทำไม เขาจึงไม่สนใจยุ่งเกี่ยวกับความทุกข์อันมากมายที่ห้อมล้อมเขาอยู่ทั้งโลก ข้อสังเกตอันนี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมหลายคนที่เรียกตัวเองว่า พุทธบริษัท จึงจมอยู่กับการปฏิบัติเฉพาะแต่ตัวเขาเอง โดยปราศจากการเข้าร่วมในความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของสังคม

ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมี ผู้ทำดี อยู่มากมาย พวกนี้ชุลมุนวุ่นวายอยู่กับการช่วยผู้อื่นในการกำจัดปัดเป่า ความทุกข์ของเขาทั้งหลาย เราจะพบคนเหล่านี้มากมายในโลกนักเคลื่อนไหวทางสังคม บ่อยครั้งที่เขาสนใจอยู่แต่ความทุกข์ของผู้อื่นมากเกินไป มากจนถึงระดับที่เขาลืมที่จะมองเข้าสู่ภายใน และเห็นความทุกข์ที่อยู่ภายในตัวเขาเอง ดังนั้นเราจึงต้องหลีกเลี่ยงหลุมพรางแห่ง ทุกข์ของท่าน หรือ ทุกข์ของพวกเขา ด้วย มิฉะนั้นเราจะสับสนหากเชื่อว่า ความทุกข์นั้นสามารถหยิบฉวยหรือแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ได้ เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงภาวะยุ่งยากสับสนทั้งสองฝ่ายดังกล่าว

ติดตามตอนต่อไป.....
พุทธยาน

เอกสารอ้างอิง: อริยสัจจ์สี่ห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล
Weblinks:
  1. อริยสัจจ์สี่ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ dhammajak.net
  2. อริยสัจจ์สี่ โดย องค์ดาไล ลามะ ตอนที่ 1/4 ตอนที่ 2/4 ตอนที่ 3/4 ตอนที่ 4/4

ไม่มีความคิดเห็น: