วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552

อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม ตอน ลัทธิอคติทางเพศ

จากความตอนที่แล้วท่านสันติกโรภิกขุได้กล่าวถึง "ความกลัว (ภยะ) : เวชกรรมการแพทย์ และศาสนา" ลำดับต่อไปท่านฯจะกล่าวต่อถึงเรื่อง "ลัทธิอคติทางเพศ : กิเลสทุกชนิด" ดังนี้

เราได้เห็นกันอยู่เสมอแล้วว่า โครงสร้างทางสังคมได้เกื้อหนุนให้เกิดกิเลสอันมากมายชนิดไม่ซ้ำหน้ากันอย่างไร ในแต่ละกรณีจะมีตัวกิเลสที่เด่นชัดเป็นแม่บท แต่รากเหง้าแห่งทุกข์ทางสังคมบางลักษณะก็ยากต่อการจัดเข้าในลำดับแห่งกิเลส เช่น อคติทางเพศ และระบบผู้ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ถ้าเราดูอย่างผิวเผิน โดยเฉพาะพวกผู้ชาย เรื่องทางเพศดูเหมือนจะมีรากลึกอยู่ในความกำหนัดราคะ ขณะที่ราคะกำหนัดนั้นมีบทบาทในเรื่องทางเพศและระบบผู้ชายเป็นใหญ่อย่างไร้ข้อสงสัยใดๆ แต่การพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยให้น้ำหนักไปที่ความกลัวอาจทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้นบ้าง อย่างเช่น การกลัวผู้หญิง กลัวธรรมชาติ กลัวความรู้สึก กลัวความไม่รู้ กลัวต่อสัจจะความจริง

ระบบผู้ชายเป็นใหญ่เป็นระบบพื้นฐานที่นำไปสู่การจัดโครงสร้างทางอำนาจตามลำดับขั้นเพื่อควบคุมสิ่งที่ตนกลัว ระบบนี้มาพร้อมๆ กับไสยศาสตร์ ในการจะพิสูจน์อันไหนมาก่อนหลังก็ยังเป็นเรื่องยากแก่การสืบค้น เพราะเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์มาก ข้าพเจ้าเชื่อว่าพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดลัทธือคติทางเพศ อยู่ที่โครงสร้างแห่งความกลัวนี่เอง เพราะเมื่อเรากลัวเราก็ดิ้นรนที่จะควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิธีคิดแบบผู้ชาย ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ความรู้สึกภายในประกอบไปด้วยวิธีคิดที่ยึดเอาผู้ชายเป็นใหญ่ คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ควบคุมผู้หญิงเท่านั้น หากยังควบคุมภาวะความเป็นหญิงในตัวเองอีกด้วย โดยการกดข่มมันไว้หรือไม่ก็รีดหาประโยชน์จากมัน เรายังข่มกลั้นบางสิ่งบางอย่างที่โดยตามประเพณีแล้วเกี่ยวเนื่องกับภาวะความเป็นผู้หญิงเอาไว้ด้วย อย่างเช่น ธรรมชาติ ความรู้สึก สัญชาตญาณ บ้านเรือน หรือแม้แต่เด็กๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ชายรู้สึกกลัว ความเกลียดชังในบางส่วนก็อาจผสมปนเปอยู่กับความกลัว นั่นตือ ความเกลียดร่างกายตัวเอง เกลียดกามารมณ์ เกลียดสิ่งที่ต่างออกไป เกลียดสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ประการสุดท้ายคือ ราคะกำหนัด ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชายหลายคนไม่สามารถควบคุมความต้องการทางเพศของเขาเองได้ก็มีบทบาทสำคัญอยู่ไม่น้อย การไร้สมรรถภาพในการควบคุมความต้องการทางเพศของผู้หญิงเองก็มีส่วนด้วยเช่นกัน (แต่น้อยกว่าผู้ชาย)

อย่างที่ท่านมารุยาม่า ได้ตั้งข้อสังเกตไว้บางแห่งในงานของท่านว่า การรวมตัวกันขึ้นของระบบผู้ชายเป็นใหญ่ ลัทธิอคตืทางเพศ และการล่มสลายของสถาบันครอบครัว นับเป็นมะเร็งร้ายสมัยใหม่ที่ร้ายกาจอย่างที่สุด ข้าพเจ้าอยากเพิ่มเติมว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกจากความรู้สึกอันทุพพลภาพในเรื่องทางเพศทั้งในอดีตและปัจจุบันแห่ง "อารยธรรมตะวันตก" ได้ ขณะเดียวกันความรู้สึกทางเพศที่ไม่สมบูรณ์นี้ก็แยกออกจากลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมไม่ได้เช่นกัน ผลของมันน่าสะพรึงกลัวทีเดียวหากภรรยาและลูกๆ ถูกปฏิบัติเหมือนกับเป็นทรัพย์สมบัติหรือเครื่องมือชิ้นหนึ่ง ที่มีไว้สนองความเพลินเพลินความพอใจของผู้เป็นสามี

พยายามปะติดปะต่อกันเป็นตอนๆ น่ะครับ ตอนต่อไปท่านสันติกโรภิกขุจะกล่าวถึง "ความซับซ้อนยุ่งยากแห่งลัทธิ" โปรดติดตามครับ

เอกสารอ้างอิง: อริยสัจจ์สี่แห่งธัมมิกสังคมนิยม, สันติกโรภิกขุ เขียน, จิรธัมม์ แปล

เพื่อ ให้บทความแต่ละตอนมีความเด่นชัดขึ้น จึงได้พยายามเสาะหาคำอธิบาย บทความ หรือทัศนวิจารณ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาประกอบซึ่งท่านสามารถติดตามด้วย ลิงค์ของบทความที่น่าสนใจและที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ได้ดังต่อไปนี้

ไม่มีความคิดเห็น: